ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง"

ไชน่าทาวน์ ห้วยขวาง แหล่งชุมชนจีนแห่งใหม่ที่น่าจับตา

หากใครเคยมีโอกาสเดินทางไปยัง ‘ห้วยขวาง’ บริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญคงจะเคยเห็นบรรดาตึกรามบ้านช่อง อาคารพาณิชย์ทั้งสองข้างฝั่งถนนเรียงรายเปิดกิจการเป็นร้านค้า ร้านอาหารติดป้ายโฆษณาด้วยอักษรภาษาจีนตลอดเส้นทาง แสดงให้เห็นถึงกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่เข้ามาพำนักในกรุงเทพมหานคร โดยเข้ามาอยู่อาศัยในย่านห้วยขวางจำนวนมากกระทั่งเกิดชุมชนแห่งใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมจีน

ทำไม ‘ห้วยขวาง’ จึงเป็นไชน่าทางน์แห่งใหม่

ปกติแล้วหากเราพูดถึงชุมชนชาวจีนดั้งเดิมในประเทศไทย เรามักจะนึกถึงย่านเยาวราชหรือสำเพ็งเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะย่านชุมชนของชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากกันตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยาวถึงบริเวณทรงวาดและต่อไปจนถึงท่าน้ำราชวงศ์ ก่อนจะขยายครอบครัวกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ อย่างถาวร แต่สำหรับการเข้ามาตั้งชุมชนแห่งใหม่ของชาวจีนในย่านห้วยขวางนั้นจะมีลักษณะย้ายถิ่นฐานมาพำนักแบบชั่วคราว จุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มชาวจีนรุ่นใหม่ เช่น นักศึกษา นักธุรกิจ ครูสอนภาษา และไกด์ทัวร์ท่องเที่ยว เดินทางมายังย่านห้วยขวางเนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานทูตจีน คนจีนที่เดินทางมาประเทศไทยอาจต้องมาทำธุระที่สถานทูตจีนอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับทำเลห้วยขวางรายล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง รวมถึงเส้นทางคมนาคมที่สะดวก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า MRT สถานีห้วยขวาง เชื่อมต่อถนนรัชดาภิเษก ต่อไปยังถนนเพชรบุรี ถนนพระรามเก้า และอีกด้านหนึ่งไปยังถนนลาดพร้าวได้อีกด้วย 
จะเห็นได้ว่ามีตัวหนังสือภาษาจีนแทบทุกร้านในทำเลห้วยขวาง
จะเห็นได้ว่ามีตัวหนังสือภาษาจีนแทบทุกร้านในทำเลห้วยขวาง
ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่ครบครันนี้เองจึงดึงดูดให้ชาวจีนเข้ามาพำนักในย่านห้วยขวาง และแน่นอนว่าสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้อสังหาริมทรัพย์ในย่านนี้เติบโตตาม

นักท่องเที่ยวจีนแห่เข้าสู่ประเทศไทยปี 60 สูงถึง 9.7 ล้านคน

หากพูดถึงการเข้ามาพำนักอาศัยของคนจีนในประเทศไทยมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา สถิตินักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยทั้งปี 2560 สูงถึง 9.7 ล้านคน สำหรับชาวจีนที่เข้ามาอาศัยในย่านห้วยขวาง เริ่มต้นราวปี พ.ศ. 2556 ส่วนใหญ่เดินทางมาจากมณฑลกวางสีและยูนนาน ได้เข้ามาเรียนต่อ ท่องเที่ยว ทำงานเป็นครูสอนภาษา และไกด์นำเที่ยว รวมถึงมีชาวจีนส่วนหนึ่งที่มองเห็นช่องทางทำธุรกิจ จากการที่มีดีมานด์ชาวจีนเข้ามาสู่พื้นที่ห้วยขวางอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก ร้านผลไม้และสินค้าแปรรูป ร้านรับส่งสินค้าไปประเทศจีน ร้านนวดและสถานบริการต่างๆ ผุดขึ้นในย่านนี้เป็นจำนวนมาก โดยเจ้าของธุรกิจดังกล่าวมีทั้งชาวไทยและชาวจีน แต่โดยมากแล้วจะเป็นชาวจีนได้เช่าตึกแถวอาคารพาณิชย์ เพื่อเปิดร้านค้าขายให้กับชาวจีนด้วยกันเอง ร้านอาหารในย่านนี้มีเมนูที่ขึ้นชื่อหลากหลายทั้งสุกี้ ชาบู ปิ้งย่าง และเมนูอื่น ๆ แบบฉบับจีนยูนนาน ราคาถูกตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท พร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำหน่ายบางร้าน นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อของต่าง ๆ ได้อย่างครบครันพร้อมบริการส่งกลับประเทศ ถูกใจนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างมาก
เรียกได้ว่าย่านห้วยขวางได้กลายเป็นไชน่าทาวน์แห่งใหม่ แหล่งรวมนักท่องเที่ยว กลุ่มคนทำงาน และนักศึกษาชาวจีน ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เดินทางสะดวก ใกล้ศูนย์การค้าอย่างเซ็นทรัลพระราม 9 เอสพลานาดและเดอะสตรีท (เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง) รวมถึงศูนย์รวมแหล่งช้อปปิ้ง ร้านอาหาร และสถานบันเทิง สุดชิคอย่างตลาดนัดรถไฟรัชดาอีกด้วย
ตลาดนัดรถไฟรัชดา ตลาดขึ้นชื่อของห้วยขวาง
ตลาดนัดรถไฟรัชดา ตลาดขึ้นชื่อของห้วยขวาง

ความนิยมด้านอสังหาฯ ในทำเลห้วยขวาง 

AI_Huai Kwang 04
ด้านการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ย่านห้วยขวางได้รับอานิสงส์ตามการพัฒนาทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมการท่องเที่ยวของชาวจีนที่หลั่งไหลสู่พื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก ทำให้ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์เกิดขึ้นรองรับความต้องการของกลุ่มอุปสงค์ที่เป็นชาวจีนหลากหลายโครงการด้วยกัน ทั้งที่ติดถนนรัชดาภิเษกและไล่ลึกไปตามแนวถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ
โดยชาวจีนส่วนใหญ่มักนิยมเช่าคอนโดย่านห้วยขวางอยู่อาศัยแบบชั่วคราว มีบริษัทเอเจนซี่เป็นนายหน้าซื้อขายและปล่อยเช่า ราคาค่าเช่าเริ่มต้นตั้งแต่ 10,000-12,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากถูกใช้เปิดเป็นสถานประกอบธุรกิจการค้าที่สำคัญ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตึกอาคารพาณิชย์เก่าที่เจ้าของเป็นคนไทยแต่เดิมมาแล้วนำมาปล่อยเช่าให้เจ้าของธุรกิจชาวจีนเปิดกิจการ โดยเรียกเก็บค่าเช่ารายเดือน มีการเปลี่ยนมือซื้อขายและเซ้งเช่าอยู่เรื่อยๆ สำหรับการพัฒนาอาคารพาณิชย์โครงการใหม่นั้นยังมีข้อจำกัดด้านที่ดินที่เหลือน้อย ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเพิ่มเติมในบริเวณศูนย์กลางการค้าที่มีอาคารพาณิชย์เดิมอยู่อย่างหนาแน่น แต่ทั้งนี้ยังพบบ้างบางโครงการในพื้นที่ที่อยู่ไกลออกไป
เต็มไปด้วยแหล่งไลฟ์สไตล์ที่เหมาะกับชาวจีน
เต็มไปด้วยแหล่งไลฟ์สไตล์ที่เหมาะกับชาวจีน
ไชน่าทาวน์แห่งใหม่นี้เป็นชุมชนของชาวจีนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แม้จะเข้ามาพำนักแบบชั่วคราว แต่ก็เข้ามาในลักษณะเก่าไปใหม่มาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต ตามสถิติจำนวนประชากรจีนที่เดินทางออกนอกประเทศมากกว่า 100 ล้านคนต่อปี และพบว่าประเทศไทยคือจุดหมายปลายทางของพวกเขาในการเดินทางมาเยี่ยมเยือน ก่อเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมสานสัมพันธ์ไทย-จีนที่มามีอย่างยาวนานหลายศตวรรษ รวมถึงยังได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย
เจาะลึกทุกทำเลในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และหากคุณมีโครงการในใจอยู่แล้วอาจจะลองอ่านเทคนิคเพิ่มเติมจากคู่มือซื้อขาย อีกทั้งคำนวณสินเชื่อเพื่ออยู่อาศัยก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของคุณมากที่สุด 
https://www.ddproperty.com/areainsider/ห้วยขวาง/article/ไชน่าทาวน์-ห้วยขวาง-แหล่งชุมชนจีนแห่งใหม่ที่น่าจับตา-1314

ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง" เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง เป็นถนนสายเล็กๆยาวประมาณ 400 เมตร เริ่มจากแยกห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก จรดถนนประชาอุทิศ ปัจจุบันถือเป็นย่านเศรษฐกิจน้องใหม่ที่น่าจับตามองมีร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการผุดขึ้นอย่างคึกคัก ทันทีที่ก้าวเข้าไป หลายคนต่างตะลึงพรึงเพริด อ้าปากค้าง ถึงขั้นควักโทรศัพท์มือถือขึ้นถ่ายรูปบรรยากาศสองฝั่งถนนซึ่งเต็มไปด้วยป้ายโฆษณาภาษาจีนโดดเด่นสะดุดตาร้านขายสินค้าหลายชนิดของคนจีน คลาคล่ำด้วยนักท่องเที่ยวจีนเดินกันขวักไขว่ตลอดทั้งวัน ไม่น่าแปลกใจที่ถนนเส้นนี้จะถูกเรียกว่า "นิว ไชน่าทาวน์" (New Chinatown) แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร

ข้อมูลบางส่วนจากงานวิจัยเรื่อง "การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่:กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่" โดย นางสาวชาดา เตรียมวิทยา ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จุดเริ่มต้นของ"ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง" เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 หลังมีนักศึกษาและครูสอนภาษาชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เหตุผลคือใกล้สถานทูตจีน รายล้อมด้วยแหล่งท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง สถานบันเทิง ที่สำคัญเส้นทางคมนาคมสะดวกสามารถใช้ทางลัดจากถนนรัชดาภิเษก ถนนลาดพร้าว ถนนพระรามเก้า ถนนรามคำแหง เชื่อมต่อไปยังถนนสุขุมวิท ถนนสีลม จนถึงรอบกรุงเทพมหานคร.... 
        ปัจจุบันมีธุรกิจของชาวจีนบนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญมากกว่า 60 ร้านค้าจากทั้งหมด 181 คูหา ประกอบด้วย ร้านขนส่งสินค้า 27 แห่ง ถือว่าเยอะที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ร้านขายเครื่องสำอาง 20 แห่ง ร้านรับฝากของและโลจิสติก17 แห่ง ร้านอาหารจีน 14 แห่ง ร้านหมอนยางพารา 5 แห่ง ร้านนวดแผนไทย 5 แห่ง ร้านเครื่องหนัง 3 แห่ง ร้านจำหน่ายรังนก 2 แห่ง ร้านเบเกอรี่ 1 แห่ง คลินิกเสริมความงาม 1 แห่ง และบริษัททัวร์ 1 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มีร้านที่ไม่ได้จดทะเบียนการค้าถึง44 แห่ง...
อ่านต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/social/local/449346


ห้วยขวาง – Little Chinatown มูลค่ามหาศาลที่หลายคนกำลังจับตามอง

February 28, 2018


ในขณะที่ทุกคนกำลังกรี๊ดกร๊าดกับ Mega Project ตรงแยกพระราม 9 กับ พหลฯ 24 แถมราคาคอนโดแถวนั้นก็พุ่งสูงปรี๊ดดดปรอทแตกไปแล้ว จนอาจลืมไปว่า ‘ห้วยขวาง’ ทำเลที่ดูเหมือนไม่มีอะไรน่าสนใจนัก กลับกลายเป็นทำเลที่มีมูลค่ามหาศาลในสายตาชาวโลก

“ห้วยขวาง’ เนี่ยนะ ดังเรื่องอะไรงะ?”

ห้วยขวางเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของชาว จีน เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ค่ะ ก็ดังถึงขนาดที่ใน TripAdvisor แนะนำให้ Huai Khwang Night Market เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับ 4 ดาวกันเลยทีเดียว เพราะเต็มไปด้วย Street Food และที่พัก ร้านขายของ และร้านอาหารที่พร้อมใจกันขึ้นป้าย เมนู หรือพูดภาษาจีนกันอย่างแพร่หลาย ลองคิดดูสิว่าการค้าและธุรกิจในย่านนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดขนาดไหน


หากพวกเธอลอง Search ดูที่พักในย่านนี้ จะเห็นว่ามีโรงแรมย่านนี้กระจุกตัวอยู่อย่างหนานแน่นมากค่ะ แสดงให้เห็นว่าย่านนี้มีนักท่องเที่ยวมา visit เป็นจำนวนมาก อย่างเดินเข้ามาในถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญแค่ 100 เมตรกว่าเมตร ก็จะเจอ Yim Hostel ที่โด่งดังของย่านนี้


พอเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวสัญจรสูงแล้ว คนพวกนี้มาเที่ยว ก็พร้อมจะ Spend อยู่แล้วจริงมะ สิ่งที่ตามมาก็คือการค้าขายและธุรกิจ เราจึงจะเห็นร้านค้าและบริษัทประเภท SME เยอะมากกก ตลอดทั้งเส้น มันก็เลยส่งผลให้มูลค่าที่ดินและ Demand ในย่านนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากค่ะ






ห้วยขวางยังถือว่าอยู่ในทำเลที่ถือว่าได้ว่าเป็นใจกลางของ Business District ที่สำคัญของกรุงเทพฯ แถมการเดินทางก็ถือว่าสะดวกเพราะมี MRT วิ่งยาวตลาดเส้นรัชดาภิเษก (ถ้าดูใน Map ตามจะเห็นว่ามันเชื่อมย่านธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งสองฝั่ง) พอมาดูกายภาพของการเติบโตย่านธุรกิจ จะเห็นได้ว่ามันกำลังขยายตัวออกมาจากเส้นอโศกยาวขึ้นไปทางฝั่งถนนรัชดาภิเษก เพราะด้วย Location ที่อยู่กลางเมืองและการเดินทางค่อนข้างสะดวก อีกทั้งราคาที่ดินยังไม่สูงมาก เราเลยจะเห็นตึกออฟฟิตกระจายตัวอยู่ตลอดเส้นรัชดาภิเษกยาวจนไปบรรจบกับบริเวณห้าแยกลาดพร้าวด้วย อย่างตอนนี้ก็จะมีตึกออฟฟิตขนาดใหญ่ขยายตัวมาถึง MRT ศูนย์วัฒนธรรมแล้ว

เศรษฐกิจของประเทศเองก็กำลังเติบโตในทางบวก เห็นได้ว่า GDP ของประเทศในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 ที่การโตมากถึง 4.3% และ 4% ตามลำดับ โดยไปโตอยู่ใน Part นำเข้า-ส่งออก นั้นหมายถึงโอกาสที่ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มชาวจีน ที่เศรษฐกิจกำลังดี (GDP 2017 +6.9%) ซึ่งหมายถึงว่าย่านธุรกิจก็ยังมีความต้องการพื้นที่สำหรับการขยายตัว แล้วมันจะไปทางไหนละคะ ถ้าไม่ใช่เส้นรัชดาภิเษกที่เป็นย่านคนจีน อิอิ

“ทำไมคนจีน ต้องมาที่เส้นรัชดาภิเษก?”

ก็ความพร้อมไงเธอ ย่านนี้มีความพร้อมสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเดินทางที่สะดวกทั้ง MRT และ Airport Rail Link ต้นทุนที่ยังไม่สูงเท่าย่าน อโศก-สุขุมวิท แถมมีสถานฑูตจีน มี Bank Of China (ที่ถูกจัดอับดับเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 8 ของโลกในปี 2017 ยังมาเปิด Head Office อยู่ที่ระหว่าง MRT พระราม 9 กับ MRT ศูนย์วัตนธรรมเลยจ้า) หรือแม้แต่บริษัท Huawei (ที่เป็นบริษัทที่ยอด Sales Share ชนะ Apple ไปเมื่อมิถุนายน 2017 ที่ผ่านมา) ก็ย้าย Head Office มาอยู่ที่อาคาร G land ตรงสี่แยกอโศกพระราม 9 นี้ด้วย

หากใครได้ลองเดินสำรวจตามคอนโดตามเส้นรัชดาภิเษก จะเห็นได้มีชาวจีน มาเช่าอยู่เยอะมาก ยิ่งเป็นหลักฐานสำคัญของ Demand ห้องเช่าในย่านนี้

เจ้เข้าใจนะ ว่าบางคนอาจจะ Love ผู้เช่าชาวจีนมากนัก แต่อยากให้เข้าใจว่า Business ก็คือ Business ค่ะ ถ้า Trend มันมาทางนี้ นักลงทุนที่ดีก็ต้องเตรียมพร้อมที่รับมือ

ทีนี้เรามาลองเปรียบเทียบราคาคอนโดในย่านห้วยขวางกันบ้าง


จะเห็นได้ว่า โครงการ The Excel Hideaway รัชดา – ห้วยขวาง เป็นคอนโดใหม่ ที่มีราคาต่อตารางเมตรถูกมาก คือราคาพอๆกับโครงการมือสองแถวนั้นเลยอะ แถวระยะห่างจาก MRT ก็ใกล้กว่า ที่ตั้งโครงการยังหลบเข้าไปในย่านบ้านคน ก็เลยเงียบสงบเหมาะแก่การพักอาศัย แต่ก็ห่างจากถนนประชาราชบําเพ็ญที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์เพียงแค่ 500 เมตรและห่างจาก Haui Khwang Night market เพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น

THE EXCEL HIDEAWAY RATCHADA – HUAI KHWANG

คอนโด Low-Rise บนที่ดิน 4 – 3 – 71 ไร่
ประกอบด้วยอาคารพักอาศัย 3 อาคาร ห้องชุดพักอาศัย 592 ยูนิต และร้านค้าอีก 2 ยูนิต
มีห้อง 1 Bedroom ขนาด 25, 28 และ 34.5 ตารางมเตร และ 2 Bedroom ขนาด 45.25 ตารางเมตร
ส่วนกลาง: สระว่ายน้ำ, Fitness, Co-working Space, Relaxing Area, สวน และรถรับ-ส่ง
ที่ตั้งอยู่ในซอยประชาราชบำเพ็ญ 10 (ห่างจากสถานี MRT ห้วยขวางประมาณ 900 เมตร)
ราคาเริ่มต้นเพียง 1.59 ล้านบาท
สนใจโครงการสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://goo.gl/FvJzyG
หรือโทรสอบถามที่ 02 029 9999





ปรากฏการณ์ "จีนบุกไทย" “ชุมชนไทย” กลายเป็น “นิวไชน่าทาวน์”

เผยแพร่:    โดย: ผู้จัดการออนไลน์









ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเข้ามาของกลุ่ม “คนจีนรุ่นใหม่ หรือที่เรียกว่า “ซิน อี้ หมิน” เปลี่ยนย่านชุมชนไทยกลายเป็น “นิวไชน่าทาวน์” 
นอกจาก “ไชน่าทาวน์ เยาวราช” ยังเกิดย่านชุมชนจีนแห่งใหม่ “นิวไชน่าทาวน์” หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ซึ่งล้วนเป็นผลพวงจากการท่องเที่ยว ย่านรัชดาภิเษก - ห้วยขวาง, พระราม 9 - อาร์ซีเอ, ศูนย์การค้าเสือป่าพล่าซ่า, ลาดกระบัง 54, เลียบทางด่วนรามอินทราแถวๆ นวลจันทร์
วิถีดั้งเดิมของชุมชนเปลี่ยนไปแบบไม่ทันตั้งตัว ชุมชนไทยเปลี่ยนร่างเป็น “นิวไชน่าทาวน์” ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือย่าน ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง ย่านชุมชนไทยที่แทบไม่เคยมีร่องรอยของวัฒนธรรมจีน แต่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจากการเข้ามาของจีนรุ่นใหม่
ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เป็นหมุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีน และเป็นแหล่ง “นิวไชน่าทาวน์” ที่ครบครันด้วยร้านอาหารจีน, ร้านนวดสปา ฯลฯ 
เกิดปรากฎการณ์ ร้านขายของเจ้าประจำต้องย้ายออก เจ้าของเก่าขายกิจการ เปลี่ยนมือให้ “ซิน อี้ หมิน” เข้ามาปักหลักในย่านชุมชน ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจที่เติบโตมาจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยว 
งานวิจัยโครงการ “การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่ : กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนจีนย่านห้วยขวางไม่ใช่แค่เข้ามาเที่ยวแล้วเดินทางกลับ ไม่ใช่คนจีนเก่าแก่แบบย่านเยาวราช คนจีนย่านห้วยขวางเป็น “คนจีนรุ่นใหม่” ที่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเมืองไทย 







  







  บรรยากาศย่าน “นิวไชน่าทาวน์” ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง 
ดร.ชาดา เตรียมวิทยา อดีตนักวิจัยศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา หัวหน้าคณะโครงการวิจัยฯ ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้สัมภาษณ์กับ “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ถึงปรากฎการณ์จีนรุ่นใหม่ “ซิน อี้ หมิน” ย่าน “นิวไชน่าทาวน์” เอาไว้อย่างน่าสนใจ
สำหรับย่านห้วยขวาง เป็นทำเลที่มีร้านอาหารจีนเยอะมาก ตลอดเส้นทาง ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ 700 เมตร ไปถึงแยกประชาอุทิศ ซอกซอยเล็กๆ ก็จะมีชุมชนจีนอยู่เป็นระยะๆ เป็นย่านที่จีนรุ่นใหม่ที่เข้ามาอยู่เยอะกว่าทุกที่ มีทั้งกลุ่มนักศึกษาจีน, ผู้ช่วยมัคคุเทศก์, ครูอาสาชาวจีน ฯลฯ
สิ่งที่น่าสนใจคือ ย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ ไม่มีร่องรอยของวัฒนธรรมจีน จะมีก็เพียง “สถานทูตจีน” ที่อยู่ใกล้ๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ดึงดูดคนจีนรุ่นใหม่ เพราะจากการพูดคุยกับคนจีนหลายๆ คน บอกตรงกันว่า พื้นที่บริเวณย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ เป็นจุดนัดพบ “แฮงค์เอาต์” 
พวกเขารู้สึกว่า... ต้องมากินแถวนี้นะ มีร้านอาหารจีนยูนาน ก็มีความรู้สึกว่าในร้านอาหารนั้นน่ะ มีเจ้าของร้าน มีผู้จัดการร้าน มีเด็กเสิร์ฟ ที่คุยภาษจีนกลางกับเขาได้







  ร้านอาหารหม้อไฟสุกี้แบบยูนนาน
สำหรับย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ เดิมทีมีแต่หอพัก-อพาร์เมนต์ แต่หลังๆ เริ่มมีการสร้างคอนโด และราคาไม่สูงมาก อสังหาริมทรัพย์ย่านนี้จึงที่นิยมของจีนรุ่นใหม่ รวมทั้ง ยังขยายตัวออกไปละแวกใกล้เคียง สุทธิสาร ลาดพร้าว พระราม 9 เพชรบุรี เป็นต้น 
คนจีนรุ่นใหม่เข้ามาทำอะไรในย่าน “นิวไชน่าทาวน์” ดร.ชาดา เล่าว่า ส่วนใหญ่ย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ - ห้วยขวาง เข้ามาขายของให้คนจีนด้วยกันนี่แหละ จะขายสินค้าไทยที่คนจีนเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า ส่วนที่นิยมชมชอบกันและราคาไม่สูงมาก อย่างพวกเครื่องสำอางค์แบรนด์ไทยต่างๆ และเริ่มขยายตลาดคล้ายๆ กันที่เอเชียทีค หรือ ไชน่าทาวน์ เยาวราช ก็มีบางร้านที่ใช้โมเดลเดียวกัน เน้นการขายผลิตภัณฑ์ไทยให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยเฉพาะ 
ยกเว้นย่านเสือป่าพลาซ่า คลองถมพลาซ่า เป็นย่านการค้าที่คนจีนเกือบจะถือครองหมดแล้ว แล้วก็นำสินค้าเมืองจีนมาขาย ซึ่งสินค้าบางตัวมันตกรุ่นแล้วที่ประเทศจีนแล้วแต่ยังเห็นขายอยู่ที่ เสือป่าพลาซ่า แคปปิตอลพลาซ่า คลองถม พลาซ่า 
การเปลี่ยนแปลงชุมชนสู่ “นิวไชน่าทาวน์” ย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2556 เป็นช่วงที่ “ทัวร์จีนบูม” นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางมาไหว้พระพิฆเนตร ทัวร์ก็มาลงในย่านนี้ ต่อมา ข้อจำกัดเรื่องที่จอดรถบวกกับหน่วยราชการเข้มงวดมากขึ้น จึงปรับเปลี่ยนเป็นไกด์จีนมาเหมาซื้อสินค้าในย่านนี้แล้วก็ไปขายปลีกนักท่องเที่ยวอีกที
การทะลักเข้ามาในเมืองไทยของคนจีนรุ่นใหม่ ต้องบอกว่าพวกเขามีความตั้งใจจะเข้ามาทำธุรกิจอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะตัดสินใจอยู่ยาว 
ดร.ชาดา เล่าว่า ตั้งแต่ประเทศจีนมีนโยบายการก้าวออกไป (Going-out Strategy) คนจีนก็เข้ามาทำธุรกิจกันในเมืองไทย ทำให้เกิดปรากฎการณ์ดังต่อไปนี้ 
กลุ่มแรกกลุ่มคนจีนที่ตั้งใจเข้ามาค้าขายทำธุรกิจ สำหรับย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ อยู่ใกล้สถานบันเทิงแรกๆ ก็จะมีกลุ่มคนจีนเข้ามาเปิดร้านอาหารจีน แล้วในกลุ่มคนจีนจะมีการบอกแบบปากต่อปากว่ามาพักแถวนี้สิ ใกล้สถานทูตจีนด้วย แต่ต้องบอกว่าไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะเขามองว่าตรงนี้สะดวกในการเดินทาง มีความสะดวกในการจับจ่ายสินค้า และตอนนั้นยังไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิ และการเดินทางไปยังสนามบินดอนเมืองก็ไม่ไกลนัก 







สินค้าแปรรูปเป็นที่นิยมของจีนรุ่นใหม่
กลุ่มที่สอง ครูอาสาสมัครชาวจีน เข้ามาทำงานอาสาสมัครในประเทศไทย กลุ่มนี้เครือข่ายใหญ่มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง มีโรมแรมในย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญให้การสนับสนุนเกื้อกูลเป็นธุรกิจ เมื่อกลุ่มครูอาสาเข้ามาแน่นอนต้องจับจ่ายซื้อของ แล้วในย่านนี้จะมีบริการลอจิสติกส์ของจีนรองรับครบครัน ซึ่งสินค้าที่คนจีนนิยมก็พวกอาหารแปรรูป ผลไม้แห้ง รังนก หรือช่วงหนึ่งนิยมหมอนยางพารา แต่ตอนนี้ยางพาราเริ่มล้นตลาดจีนแล้ว
ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มครูอาสาสมัคร เข้ามาสอนภาษาจีนในรูปแบบครูอาสา แล้วเห็นช่องทางทำธุรกิจในเมืองไทยคราวนี้ก็เลยอยู่ยาวกันแบบย้ายถิ่นฐานชั่วคราว ซึ่งทางการไทยยังไม่มีมาตรการควบคุม แม้มีตัวเลขว่าแต่ละปีครูอาสาชาวจีนเข้ามาจำนวนเท่าไหร่ อยู่โรงเรียนไหน หน่วยงานใด แต่ยังไม่มีการติดตามว่าครูเหล่านี้หมดวาระแล้วกลับไปประเทศจีนแล้วเข้ามาเมืองไทยอีกหรือไม่ ซึ่งกลุ่มครูอาสาสมัครเหล่านี้ครั้งแรกเปิดรับไม่ถึง 100 คน แต่ครั้งล่าสุดมีจำนวนกว่า 1,500 คน ซึ่งครูอาสาสมัครรับเงินเดือน 2 ทาง ทั้งทางไทยและทางจีนด้วย และระหว่างที่ใกล้หมดวาระพวกเขาจะหาช่องทางอยู่ต่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีสมัครเรียนต่อระดับปริญญาโท
นอกจากนี้ กลุ่มครูอาสาที่คุ้นเคยกับสังคมไทยดีแล้วเริ่มจะประกอบอาชีพเป็นนายหน้า พาคนจีนเข้ามาในเมืองไทยหรือพานักศึกษาไทยไปเรียนที่ประเทศจีน
อีกกลุ่มคือ กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา ยกตัวอย่าง จ.เชียงใหม่ จะเป็นเด็กเล็กๆ มาเรียน มีคุณแม่ถือวีซ่าNON-O มาตามดูแลลูก แล้วก็พ่วงทำกิจการเล็กๆ ส่วนในกรุงเทพฯ จะมีเด็กจีนมาเรียนระดับปริญญาตรี ซึ่งคุณแม่ก็ถือวีซ่า NON-O เข้ามาด้วย ปรากฎว่าครอบครัวเด็กเหล่านี้ เริ่มเข้ามาทำเป็นธุรกิจอสังหาฯ ศึกษากฎหมายไทย เขารู้ว่าเขาสามารถซื้อคอนโดในเมืองไทยได้ และกว่า 49 เปอร์เซ็นต์ กลับไปตกอยู่ในมือคนจีน ตรงนี้ก็ทำให้เด็กไทยกลุ่มเด็กจบใหม่อาจเข้าไม่ถึงทรัพยากร เงินเดือนปริญญาอาจจะไม่สามารถซื้อคอนโดริมทางรถไฟฟ้าเหมาะแก่การทำงานได้
กล่าวคือ งานวิจัยฯ พบว่าการศึกษาของลูกหลานชาวจีนระดับปริญญาตรีในประเทศไทย เป็นช่องทางธุรกิจแก่ครอบครัว นอกจากการลงทุนทางการศึกษาในประเทศไทยค่าใช้จ่ายไม่สูง ยังสามารถซื้ออสังหาฯ ไว้ลงทุนได้อีกด้วย
ดร.ชาดา เล่าถึงปรากฎการณ์จีนรุ่นใหม่ต่อไปว่า มีกลุ่มคนจีนที่ตั้งใจจะมาทำงานในเมืองไทย เข้ามาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว และเขาจะหาวิธีอยู่อย่างถูกกฎหมาย โดยใช้วิธีไปสมัครเรียนปริญญาตรี-ปริญญาโทเพื่อจะได้วีซ่านักเรียน ยกตัวอย่าง ย่านประชาราษฏร์บำเพ็ญ ถือวีซ่าท่องเที่ยวแต่มาทำธุรกิจร้านอาหาร อ้างว่าช่วยญาติดูแล แต่ทางสำนักงานเขตฯ ก็มองไม่น่าจะใช่เพราะลักษณะทางกายภาพไม่เหมือนกันเลย
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้คนจีนเริ่มทำธุรกิจในเมืองไทยลำบากขึ้น เพราะทางการจีนมีการจำกัดวงเงินโอนออกนอกประเทศ ใน 1 ปี ไม่สามารถโอนเงินมากกว่า 50,000 US รวมทั้ง ต้องแจ้งว่าโอนเงินวัตถุประสงค์ใด ณ วันนี้ธุรกิจนอมินีทุนจีนในย่าน “นิวไชน่าทาวน์” จึงได้รับเป็นผลกระทบเพราะเงินหมุนไม่ทัน สายป่านไม่ถึง ร้านค้าเริ่มเบาบางลงหรือบางร้านเริ่มปิดตัวไป 
การเข้ามาของ “จีนรุ่นใหม่” ในย่านต่างๆ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนจากชุมชนคนไทยสู่ “นิวไชน่าทาวน์” และเมื่อทุนจีนเข้ามา ร้านค้าดั้งเดิมก็ออกไป ด้วยเหตุผลที่ว่า “คนจีนมีข้อเสนอที่ดี” 
ภาพประกอบจาก รายงานวิจัยการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่ : กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่



นิวไชน่าทาวน์ เมื่อชุมชนไทย... กลายร่าง

นิวไชน่าทาวน์ เมื่อชุมชนไทย... กลายร่าง
14 กรกฎาคม 2559 | โดย อรรถภูมิ อองกุลนะ
 14,712
เมื่อชุมชนไทยต้องแปลงร่าง กลายเป็นย่านจีนอย่างไม่ตั้งตัว นี่จึงเป็นทั้งความจริงอีกด้าน และเป็นสัญญาณเตือนให้เร่งจัดระบบชุมชนรับการท่องเที่ยว
ขณะลือกันว่าอีกไม่นาน ร้านอาหารตามสั่งเจ้าประจำต้องย้ายออก เวลาเดียวกันนี้ ข่าวเปลี่ยนผู้เช่าอาคารรายใหม่ฝั่งตรงข้ามก็แว่วมา เจ้าของเก่าขายกิจการ อาคารว่างถูกเปลี่ยนมือ กระทั่งการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ ดูเป็นเรื่องธรรมดาของย่านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะย่านเศรษฐกิจที่เติบโตมาจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยว ซึ่งเร็ว แรง และค่อนข้างไร้ระเบียบ
การออกมาตั้งข้อสังเกตถึงวิถีชุมชนที่เปลี่ยนไป โดยไม่พูดถึงผลประโยชน์ที่ได้รับก่อนหน้า มันก็ไม่ต่างอะไรกับการจ้องจับผิด หากจะมีน้ำหนักก็ต่อเมื่อ“คนใน”เริ่มวิตกแล้วว่า หนทางที่ดำเนินอยู่ เริ่ม“คุมไม่อยู่”อย่างน้อยๆ ก็เรื่องขยะ ที่จอดรถ ปัญหาอาชญากรรมที่ถี่ขึ้น หลังมีคนเดินเข้า-ออกชุมชนมากกว่าที่เคย
นิยามข้างต้นอธิบายตัวอย่างได้ถึงชุมชนละแวก ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง และบริเวณโดยรอบ ซึ่งวันนี้ชุมชนธรรมดาๆ แห่งนี้ กำลัง “กลายร่าง” เป็นแหล่งหยุดพักของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากประเทศจีน ซึ่งมีอัตลักษณ์ชัดเจนอย่างที่รู้กันดี ทั้งวิถีกิน วิถีช็อป และวิถีท่องเที่ยว
ถนนเส้นเล็กๆ จึงเติบโตอย่างก้าวกระโดด ครบครันด้วยร้านอาหารจีน นวดสปา หมอนยางพารา ฯลฯ ราวกับว่า นี่คืออีกหมุดหมายแห่งใหม่ที่ใครๆ ต่างกำลังพูดถึง

นิวไชน่าทาวน์
  สถิติของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา บอกชัดเจนว่า นักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้าประเทศไทยสูงขึ้นกว่า2เท่า เมื่อเทียบกับ3-4ปีก่อน โดยเฉพาะในปี2558ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยมากถึง7.93ล้านคน ขณะที่ในปี2559นับตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพียง5เดือน ก็นับได้จำนวนกว่า4.18ล้านคนเข้าไปแล้ว
เยาวราช-เชียงใหม่-ภูเก็ต และอีก ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมนั่นพอเข้าใจ แต่ งานวิจัยเรื่อง"ชุมชนชาวจีนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ” ระบุตอนหนึ่งว่า นอกจากย่านยอดนิยมข้างต้นแล้ว ยังมีย่านชุมชนจีนที่เกิดใหม่ อันเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวเช่นกัน และชัดเจนที่สุดคือบริเวณ ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง
“หนึ่ง-คือใกล้สถานทูตจีน และตลาดห้วยขวาง ซึ่งเปิดตลอด 24 ชั่วโมง สอง-มีองค์พระพิฆเนศที่คนจีนนับถือและนิยม ขณะที่สาม-คือความได้เปรียบในเรื่องสถานที่ เพราะ ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เปรียบเสมือนทำเลที่สามารถเดินทางไปรอบกรุงเทพมหานครได้สะดวก สามารถที่จะใช้เป็นเส้นลัดทางออกสู่ ถ.ลาดพร้าว ถ.พระรามเก้า และ ถ.รามคำแหง
ไม่นับบริการรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งลดระยะเวลา หากต้องการเชื่อมไปถึงกรุงเทพย่านเศรษฐกิจ อย่าง ถ.สุขุมวิท ถ.สีลม ได้” ดร.ชาดา เตรียมวิทยา นักวิชาการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา หนึ่งในคณะทำวิจัยกล่าว
ความเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้น ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งพบว่ามีชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น โดยมีตัวชี้วัดเป็นร้านอาหารจีน ร้านนวดแผนไทย ร้านเสริมสวยที่เน้นเปิดให้บริการแก่ชาวจีนผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก
โชติรัตน์ อภิวัฒนาพงศ์ ผู้ประกอบการ“ยิ้มห้วยขวาง โฮสเทล”ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ ซึ่งอาศัยอยู่ในย่านรัชดา-ห้วยขวางมามากกว่า20ปี มองว่า ช่วง 2-3 ปีหลังนี้ มีการเติบโตของนักท่องเที่ยวสูงขึ้นจริง โดยเฉพาะชาวจีนซึ่งเป็นแขกที่เข้าพักในโรงแรมมากกว่าร้อยละ 60 โดยคนกลุ่มนี้เป็นนักท่องเที่ยวซึ่งต้องการสถานที่พักใกล้รถไฟฟ้า เพราะไม่ได้ซื้อทัวร์ที่คอยอำนวยความสะดวกด้านขนส่ง
เมื่อคนจีนเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก นั่นจึงเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ประกอบการที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจเอาใจนักท่องเที่ยว อย่างน้อยๆ ก็เรื่องการสื่อสาร อย่างป้ายอาคาร ทักษะสื่อสารของพนักงาน เวลาเปิด-ปิด ฯลฯ ที่ต้องเอื้อประโยชน์กับนักท่องเที่ยวจีน
“นิวไชน่าทาวน์ หรือไม่ก็ สมอล ไชน่าทาวน์(Small Chinatown)เขาเรียกกันแบบนี้”ลูกจ้างคนไทยคนหนึ่ง นิยามตามผู้มาใช้บริการ
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า เหตุใด สองฝั่ง ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เรื่อยมาถึงจุดตัด ถ.ประชาอุทิศ และบริเวณโดยรอบจึงคักคักอย่างมีเอกลักษณ์ ยิ่งเฉพาะยามที่แสงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
ยิ่งดึก-ยิ่งคึกคัก ราวกับว่าแสงไฟอันเจิดจ้า นำพาชีวิตชีวาของการท่องเที่ยวมาให้

ฤาชุมชนกลายพันธุ์
  ถ้ารายได้ทางเศรษฐกิจ คือเหรียญด้านบวกของการท่องเที่ยว การตั้งคำถามถึงความมีระเบียบ และการเอาเปรียบจากคนบางกลุ่มจึงเป็นด้านลบแบบปฏิเสธไม่ได้
จากการสำรวจ มีข้อมูลที่น่าสนใจบอกว่า ชาวจีนย่านห้วยขวางไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวหรือคนจีนเก่าแก่แบบเยาวราชที่คนไทยรู้จักดี ทว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือชาวจีนรุ่นใหม่ซึ่งได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทย อาทิ การเข้ามาศึกษาในประเทศไทย การเข้ามาสอนภาษาจีน กระทั่งเป็นนักท่องเที่ยวที่ย้ายถิ่นฐานชั่วคราวเพราะเล็งเห็นช่องทางในการทำธุรกิจในไทย
“ส่วนใหญ่เป็นจีนกวางสี จีนยูนนาน พวกเขาเริ่มต้นจากแค่ท่องเที่ยวหรือมาทำธุระ นำไปสู่การตัดสินใจอยู่นานขึ้น พอวีซ่าท่องเที่ยวหมด ก็ยังไม่กลับ จากนั้น เมื่อเห็นช่องทางจะเริ่มเรียกครอบครัวให้ตามมา แล้วหาที่อยู่พร้อมๆ กับหาช่องทางทำงานไปด้วย เห็นการตั้งถิ่นฐานลักษณะแบบใยแมงมุม (Spider’s Web Settlement)คือกำหนดให้ชุมชน ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เป็นศูนย์กลาง มี ร้านอาหารจีน ร้านค้า ร้านเสริมสวย ร้านขนส่งโลจิสติกส์ อยู่สองข้างทางฝั่งถนน ในขณะเดียวกัน ตามซอยเล็กยังมีร้านค้าขนส่งโลจิสติกส์อีก ซึ่งมีผู้ร่วมหุ้นเป็นคนจีน เปิดให้บริการคนจีนด้วยกัน” ดร.ชาดาตั้งข้อสังเกต
มันจึงเป็นผลกระทบแบบที่ชาวบ้านธรรมดาๆ ไม่ได้คาดคิด เพราะจากที่เคยดีใจหลังขายของได้มากขึ้น อาคารพาณิชย์ที่เคยทิ้งร้าง มีคนจีนมาเช่าแบ่งเบาภาระ แต่เมื่อทั้งหมดมัน“มากไป”จากที่เคยพอใจ ก็เริ่มขุ่นมัว พาลคิดว่าชุมชนที่ตัวเองรู้จักกลายเป็นคนแปลกหน้าขึ้นเรื่อยๆ
“มันเริ่มไม่น่าอยู่แล้วครับ ตอนนี้ยิ่งดึกยิ่งมีชาวจีนนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารจีน บางร้านเปิดกันถึงโต้รุ้ง ทิ้งขยะไว้กันเกลื่อน บางคนเขาซื้อมอเตอร์ไซค์ คิดจะจอดตรงไหนก็จอด มั่วกันไปหมด ลองมาดูค่ำๆ สิ รถติดเป็นแถว”ชาวบ้านรายหนึ่งให้ความเห็น
นี่ยังไม่รวมกับข้อสังเกตกรณีอาคารพาณิชย์เปลี่ยนเจ้าของบ่อยครั้ง บางคูหามีอายุเฉลี่ยเพียง 2-3 เดือนต่อการเปลี่ยนเจ้าของ สวนทางกับอัตราค่าเช่าซึ่งถีบตัวสูง จนผู้ประกอบเดิม ซึ่งเป็นคนไทยไม่สามารถสู้ราคาได้
  “เฉพาะชั้นล่างราคา12,000บาทต่อเดือน เราก็ว่าสูงอยู่แล้ว แต่เมื่อไม่กี่เดือนก่อน เจ้าของอาคารแจ้งว่า จะมีผู้มาเช่ารายใหม่ที่ให้ราคาสูงกว่า จึงไม่ได้ต่อสัญญา เราคิดว่าไม่น่าจะเป็นคนไทย ตอนนี้ได้ยินว่าหลายรายก็เริ่มสู้ค่าที่ไม่ไหว”รัชนู หนูโพนทัน เจ้าของกิจการแห่งหนึ่งในพื้นที่ใกล้สำนักงานเขตห้วยขวาง บอก
ขณะที่ สนทรรศน์ โชติทวีศักดิ์ เจ้าของร้านตัดผมในพื้นที่ พูดถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า ช่วงปลายปี2557เป็นต้นมา คือจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะร้านค้าโดยรอบ เริ่มปรับปรุงเพื่อสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนกันหมด บางรายร่วมหุ้นกับคนจีนเพื่อเปิดธุรกิจ ผู้ค้าเดิมซึ่งเป็นคนไทยไม่สามารถสู้ราคาได้ จึงต้องเปลี่ยนผู้ประกอบการใหม่
ในวันที่ความเติบโตของย่านที่คุ้นเคยดำเนินไปทั้งข่าวลือและข่าวจริงอันว่าด้วยผู้อยู่อาศัยเดิมเริ่มทยอยย้ายออกจึงแว่วไม่เว้นแต่ละวัน
ยังไม่นับรวมไปถึงข้อสังเกตต่อการเปิดกิจการของชาวจีนแบบผิดกฎหมาย ผ่านตัวแทนหรือนอมินี่คนไทย โดยมีสินค้าหลักอย่างเครื่องสำอาง หมอนยางพารา ผลไม้อบแห้งเป็นตัวชูโรง กลายเป็นเรื่องที่ได้ยินกันบ่อย แต่ยังทำอะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน ค่าที่ว่าในภาพใหญ่ที่เกิดขึ้น มีส่วนน้อยบางรายที่กำลังได้ประโยชน์
“คนอาจจะคิดว่า ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ คึกคัก มีทัวร์จีนมาเยอะแล้วเศรษฐกิจดี คงไม่ใช่ทั้งหมดหรอก ส่วนใหญ่แล้วคนจีนจะมาซื้อของด้วยกันเองทั้งนั้น ถ้าจะหาคนรวยก็คงจะเป็นคนจีนด้วยกัน คนไทยอย่างมากได้แค่ขายน้ำ ให้เช่าที่ ไม่ก็หนีไปอยู่ที่อื่นหมด”

จัดระบบก่อนสาย
  ถ้าจะพูดให้แฟร์ๆ แล้ว การเกิดขึ้นของย่านเศรษฐกิจใหม่ที่มีผลพวงมาจากนักท่องเที่ยวคงไม่ใช่เรื่องใหม่
แบบเดียวกับที่มีย่านรัสเซีย ย่านสแกนดิเนเวีย แถวพัทยา ย่านเกาหลี ญี่ปุ่น ละแวก ถ.สุขุมวิท ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศอยากอุดหนุนผู้ประกอบการที่มาจากชาติตัวเอง คำถามถึงกลับมาอยู่ในประเด็นที่ว่า จะจัดระบบอย่างไรดี ในย่านปัญหา โดยไม่ลืมเรื่องกฎหมาย และความพอใจของชุมชน
เจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ย้ำว่า หากนักท่องเที่ยวฝ่าฝืน ประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย มีการแย่งอาชีพที่คนไทยสงวนไว้ ก็ต้องดำเนินการจับกุม แต่จะเหมารวมว่าชุมชนกำลังจะพังลง เพราะการท่องเที่ยวคงไม่ถูกนัก
“มันต้องใจกว้างและให้ความเป็นธรรมด้วยครับ มันก็เหมือนกับคนไทยไปอเมริกา หรือไปประเทศอื่น ก็อยากจะไปไทยทาวน์ อยากจะอุดหนุนร้านที่มีป้ายภาษาไทย ทั้งหมดนี้ว่าเฉพาะที่ถูกกฎหมายนะ แต่ถ้าผิดก็ต้องจับกุมเลย”
ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ ก็เช่นกัน เมื่อการท่องเที่ยวได้รุกคืบเข้ามา กระบวนการตั้งรับก็ต้องถูกผลิตให้รัดกุมกว่าเดิมเช่นกัน ไล่ตั้งแต่การจับกุมผู้ละเมิดกฎหมายอาทิ การขับขี่ที่ผิดกฎหมาย การใช้ใบอนุญาตที่เป็นของปลอม การเกิดอาชญากรรมวิ่งราว การจ้างวานคนไทยให้เป็นนอมินี่ทำธุรกิจ โดยเฉพาะการแย่งอาชีพที่สงวนให้แก่คนไทยอย่าง มัคคุเทศก์ ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าไกด์ปลอมในย่านที่ว่ากำลังได้รับความนิยมมาก
“ไกด์เอาท์บาวน์(Outbound Guide)ที่เอาทัวร์จีนมาเที่ยวจริงๆ ไม่มีใครมาย่านนี้หรอก มันไม่มีที่จอดรถ แหล่งซื้อของก็มีไม่มาก จะมีแต่ไกด์คนจีนด้วยกันที่ได้เปอร์เซ็นต์จากการพามากินอาหาร มาช็อปปิ้งในร้านตึกแถวแบบนี้ ค่าจ้างเขาถูก มันสมประโยชน์กันไป ถึงโตเร็วไง”คนนำเที่ยวรายหนึ่งบอก
ขณะที่งานวิจัย"ชุมชนชาวจีนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ” เสนอมาตรการอีกทางหนึ่งคือการจัดระบบชุมชนเพื่อสอดรับการเติบโตของเมืองที่มีผลมาจากการท่องเที่ยว ได้แก่ การเร่งตรวจสอบธุรกิจการค้าของชาวต่างประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียน หรือทำธุรกิจในรูปแบบตัวแทนอำพราง โดยพิจารณาบทลงโทษ และประสานกับกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต เพื่อพัฒนามาตรการด้านภาษี
การกำหนดมาตรการนำเข้าและส่งออกสินค้ารวมไปถึงการจัดระเบียบโรงแรมขนาดเล็ก ห้องพักในการรายงานต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
“การท่องเที่ยวคือเรื่องดี แต่เมื่อมันขยายตัว เราก็จำเป็นต้องจัดระบบให้เหมาะสม ให้สอดคล้องกับลักษณะของแต่ล่ะพื้นที่” หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวทิ้งท้าย
  ในวันที่ชุมชนไทยต้องแปลงร่างกลายเป็นย่านจีน แม้จะไม่ชอบใจนัก แต่ทั้งหมดคือความจริงอีกด้านของการท่องเที่ยว
เป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องปรับตัวเองให้รัดกุมกว่าที่เคย

แรงงานผนึกทหาร กวาดล้างแก๊งมังกร ทําการค้าแย่งอาชีพ


ไทยรัฐฉบับพิมพ์31 ส.ค. 2559 07:48 น.ก.แรงงาน-ทหาร บุกตรวจร้านค้าย่านไชน่าทาวน์ ห้วยขวาง หลังมีคนร้องเรียนคนจีนแห่เป็นเจ้าของธุรกิจร้านค้าแย่งอาชีพคนไทย พบคนต่างด้าวสัญชาติจีน-เมียนมาลักลอบทำงานอื้อ ดำเนินคดีทำงานไม่มีใบอนุญาต-ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ขณะคุมตัวส่ง สาวหมวยเว็บไซต์จีน ขอสัมภาษณ์ชุดจับกุม แต่ถูกขอตรวจใบอนุญาตทำงานพบผิดประเภท ถูกรวบดำเนินคดีด้วย
โดยเมื่อวันที่ 30 ส.ค. เจ้าหน้าที่กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน นำโดยนายณัฐพล รักชาติ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 3 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ รวมกว่า 30 คน เข้าตรวจสอบร้านค้า อาคารพาณิชย์ ย่านถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง กทม. โดยเจ้าหน้าที่ได้แบ่งกำลังออกเป็น 6 ชุด เข้าตรวจสอบร้านค้า 8 ร้าน ที่เปิดขายของฝาก เช่น ผลไม้อบแห้ง หมอนยางพารา เครื่องสำอาง ยา และสินค้าไทยประเภทต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมซื้อติดมือกลับประเทศ จากการเข้าตรวจพบว่ามีการใช้คนต่างด้าว เป็นลูกจ้างทำงานในร้าน โดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก จึงควบคุมตัวส่งดำเนินคดี สน.ห้วยขวาง และ สน.สุทธิสาร รวม 19 คน เป็นสัญชาติจีน 16 คน เมียนมา 1 คน คนไร้สัญชาติบนพื้นที่สูง 2 คน และนายจ้าง 1 คน
จากการสอบถามนายจักรพันธุ์ บุญทอง เจ้าของร้านขายของฝาก เลขที่ 78/2 ซึ่งถูกดำเนินคดีใช้ลูกจ้างชาวจีน 4 คน และเมียนมา 1 คน ขายของในร้านโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน กล่าวว่า ยอมรับว่าใช้ลูกจ้างต่างด้าวชาวจีนทำงานจริง ที่ผ่านมา เคยจ้าง 6-7 คน โดยให้คนรู้จักช่วยหามาทำงาน และมีมาสมัครเอง ส่วนที่ต้องใช้คนจีนเพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนจีน จึงต้องใช้คนที่สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ จ่ายค่าจ้างเดือนละ 8,000-10,000 บาท ส่วนที่ไม่ใช้คนไทยเพราะคนไทยที่พูดภาษาจีนได้จะมีค่าจ้างสูงและคนไทยเลือกงาน
นายณัฐพลกล่าวว่า มีประชาชนร้องเรียนว่า คนจีนมาเปิดร้านค้าขายของ แย่งอาชีพคนไทย จึงส่งทีมเข้ามาตรวจล่วงหน้าพบว่า สองฝั่งถนนระยะทางประมาณ 400-500 เมตร มีร้านค้าของคนจีนมาเปิดขายของเต็มไปหมด และมีการใช้คนต่างด้าวขายของจริง จึงนำกำลังเข้าควบคุมตัวดำเนินคดี 20 คน แต่บางร้านไหวตัวทันรีบปิดร้านหนี จึงจะต้องตรวจเข้มต่อไป คนกลุ่มนี้ใช้วีซ่านักท่องเที่ยวเข้าไทย แต่ลักลอบทำงาน เมื่อสอบถามจะอ้างว่ามาท่องเที่ยว บางคนมีใบอนุญาตทำงาน แต่มาทำงานผิดประเภทและผิดพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต
“เมื่อก่อนตึกแถวย่านนี้มีคนไทยเป็นเจ้าของ ธุรกิจต่างๆ การค้าขายเป็นของคนไทย แต่ปัจจุบันตึกแถวหลายห้องสองฝั่งถนน กลายเป็นธุรกิจของคนจีน คนจีนเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก กลายเป็นไชน่าทาวน์ เป็นแหล่งท่องเที่ยว ค้าขาย ของคนจีน ส่วนคนไทยค่อยๆหายไป คนพวกนี้จะใช้วีซ่าท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไม่กี่วันก็มาทำงาน โดยมีคนไทยเป็นนอมินีเช่าพื้นที่ หรือซื้อตึกทำธุรกิจ แต่กระทรวงแรงงานมีหน้าที่ดูแลในส่วนของการลักลอบทำงาน จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อแก้ปัญหาต่อไป” นายณัฐพลกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ กกจ.กำลังแยกตัวนายจ้างและลูกจ้างต่างด้าว ขึ้นรถตู้เพื่อนำไปแจ้งความดำเนินคดี ที่ สน.สุทธิสารและ สน.ห้วยขวาง เนื่องจากเป็นพื้นที่รอยต่อ ได้มีนักข่าวจากเว็บไซต์ไท้กั๋ว ดอทคอม 3 คน เข้ามาขอสัมภาษณ์นายสุรศักดิ์ ไกยสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบและควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กกจ. ถึงการควบคุมตัวชาวจีนไปดำเนินคดี นายสุรศักดิ์ได้ชี้แจงว่าดำเนินการตรวจสอบครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากคนสัญชาติจีนจำนวนมาก ลักลอบทำงานค้าขายซึ่งผิดกฎหมายเพราะอาชีพ ค้าขายสงวนสำหรับคนไทยห้ามต่างด้าวทำ แต่หลังสัมภาษณ์เสร็จนายสุรศักดิ์ได้สอบถามนักข่าวจีนที่พูดไทยอย่างคล่อง ว่ามีใบอนุญาตทำงานหรือไม่และขอตรวจสอบ พบว่ามี ใบอนุญาตทำงานเป็นครูสอนภาษาจีนในโรงเรียนสอนภาษาแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี ส่วนทีมงาน 1 คน ไม่มีพาสปอร์ตติดตัว จึงนำตัวส่ง สน.ห้วยขวาง ดำเนินคดีข้อหาทำงานผิดประเภทและผิดสถานที่ที่ได้รับอนุญาต ขณะที่ช่างภาพอีกคนไหวตัวทันหลบหนีไปก่อน



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สถาบันภาษาและวัฒนธรรมจีนปักกิ่ง Beijing Chinese Language and Culture College

สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล