สถาบันขงจื่อ เส้นทางสายไหมทางทะเล

สถาบันขงจื่อ เส้นทางสายไหมทางทะเล

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย–จีน มีมาช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว
เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้ชาติไทยก็ปรากฏหลักฐานว่า มีคนจีนเข้ามาช่วยรบกู้ชาติและต่อเรือด้วย เมื่อปีที่แล้วท่านประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ได้กล่าวประโยคหนึ่งที่มีความสำคัญมาก ซึ่ง นายกรัฐมนตรี โจ เอิน ไหล ก็เคยกล่าวประโยคนี้เช่นกันคือ “จง ไท อิ เจีย ชิง” หมายถึง คนไทยคนจีนเป็นพี่น้องกัน
วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 ผมร่วมเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน กับ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรี โดยมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องการต้อนรับและอาหารสำหรับจัดเลี้ยงตลอดการเดินทาง วันที่ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เข้าพบท่านประธาน เหมา เจ๋อตง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ทางจีนได้กำหนดเวลาให้เข้าพบเพียง 5 นาทีและให้เข้าพบเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ปรากฏว่าท่านนายกฯ คึกฤทธิ์หายเข้าไปประมาณครึ่งชั่วโมง เมื่อท่านออกมาจากห้อง ก็มีคำสั่งจาก ท่านประธาน เหมา เจ๋อตง ว่าขอให้ดูแลคณะจากเมืองไทยให้ดีที่สุดเสมือนญาติสนิท ผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ดูแลคณะของเราก็คือ ท่าน เติ้ง เสี่ยวผิง นั่นเอง คณะของเราจึงได้รับความสะดวกสบายต่างๆอย่างดียิ่ง การไปเจริญสัมพันธไมตรีในครั้งกระนั้น ไทยและจีนก็สานสัมพันธ์ใกล้ชิดกันอย่างต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้เป็นเวลา 40 ปี และในวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 สถานทูตจีนร่วมกับสมาคมมิตรภาพไทย-จีน จะจัดงานฉลองครบรอบ 40 ปีอย่างยิ่งใหญ่

พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือพระพุทธรูปทองคำ.
มอบรางวัลเพชรยอดมงกุฎ.
ที่เกริ่นถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ก็เพื่อจะเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า แม้เราจะมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน แต่ทั้งสองประเทศก็ยังมีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเป็นอยู่
จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2557 มีคนจีนเดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทย 4.6 ล้านคน ลองคิดคำนวณดูว่าจะมีรายได้เข้าประเทศปีละเท่าไร เมื่อมีคนมาเที่ยวจำนวนมาก ย่อมต้องเกิดปัญหาและความไม่เข้าใจกันในหลายๆเรื่อง สาเหตุอาจมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งสองประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องให้เวลาเรียนรู้ปรับตัวเข้าหากัน และสื่อสารทำความเข้าใจกันให้มากกว่านี้ ปัญหาต่างๆจะสามารถแก้ไขได้อย่างแน่นอน
นิทรรศการภายในศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช.
รูปปั้นขงจื่อ ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย.
เพื่อให้คนทั่วโลกเข้าใจและรู้จักประเทศจีนมากขึ้น สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงมีนโยบายเผยแพร่การใช้ภาษาและวัฒนธรรมขึ้น เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก จึงได้ก่อตั้งสถาบันขงจื่อขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2547 โดยกำหนดให้มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมความสัมพันธ์และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนทางภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้และประเพณีของจีน ปัจจุบันมีประเทศต่างๆทั่วโลกที่สานสัมพันธ์กับจีนและตั้งสถาบันขงจื่อขึ้นในประเทศนั้นๆกว่า 126 ประเทศ
สำหรับประเทศไทย สถาบันขงจื่อได้ก่อตั้งมาประมาณ 10 ปี โดย พระพรหมมังคลาจารย์ หรือ ท่านเจ้าคุณธงชัย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัด ไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ประธานมูลนิธิร่มฉัตร เป็นผู้ริเริ่มให้มีการเรียนภาษาจีน ที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยเป็นแห่งแรกและขยายเพิ่มขึ้นรวมเป็น 11 โรงเรียน นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยอีก 13 แห่ง ส่วนมากจะเป็นการให้ความร่วมมือกันทางด้านการศึกษาอย่างเดียว เช่น แลกเปลี่ยนครู นักเรียน นักศึกษา การไปทัศนศึกษาดูงาน เข้าค่ายอบรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมถึงมหาวิทยาลัย ให้ไปเรียนที่ประเทศจีนทุกปีและ โครงการเพชรยอดมงกุฎ ที่จัดการแข่งขันความสามารถทางวิชาการของนักเรียน 5 วิชาหลักทุกสังกัดทั่วประเทศ
พระพรหมมังคลาจารย์(เจ้าคุณธงชัย)
พิธีรับเหรียญทองเชิดชูเกียรติจากรัฐบาลจีน.
ผมรู้จักและคุ้นเคยกับท่านเจ้าคุณธงชัยเป็นอย่างดี จึงได้เรียนถามท่านว่า ทำไมสถาบันขงจื่อจึงให้ความรู้เฉพาะสถาบันการศึกษาเท่านั้น ทำไมไม่ให้ความรู้แก่ประชาชนที่สนใจ หรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆบ้าง โดยเฉพาะบุคคลที่ต้องเกี่ยวข้องกับการให้บริการ การท่องเที่ยว เช่น ไกด์ ตำรวจ พนักงานโรงแรม คนขับแท็กซี่ แม่ค้า ซึ่งคนเหล่านี้ต้องดูแลคนจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวหรือทำมาหากินค้าขายในประเทศไทย
ท่านเจ้าคุณธงชัย เล่าว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2557 ท่านได้เดินทางไปเมืองเซี่ยเหมิน เพื่อรับโล่เชิดชูเกียรติจากรัฐบาลจีนในฐานะผู้ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีน เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เคยได้รับรางวัลเหรียญทองเชิดชูเกียรติ มาเมื่อปี 2554 นอกจากจะไปรับรางวัลแล้ว ท่านยังได้เข้าร่วม ประชุมครบรอบ 10 ปีแห่งการก่อตั้งสถาบันขงจื่อ ท่านจึงได้เสนอโครงการใหม่ คือ การเชิญหน่วยราชการทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาจีนเข้ามาอยู่ ร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีอยู่แล้ว โดยให้ประ-เทศจีนจัดมหาวิทยาลัยมาเป็นพี่เลี้ยงทำงานร่วมกัน ปรากฏว่า ดร. Xu Lin ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อ (สำนักงานใหญ่) ณ กรุงปักกิ่ง เห็นชอบกับโครงการดังกล่าวมาก โดยให้ชื่อสถาบันใหม่นี้ว่า “สถาบันขงจื่อ เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road Confucius Institute) และกำหนดให้ Tianjin Normal University เป็นพี่เลี้ยง
ห้องจัดแสดงชุมชนคนจีนในเยาวราช จากอดีตถึงปัจจุบัน.
สถาบันขงจื่อ กรุงปักกิ่ง.
บทบาทหน้าที่สำคัญของสถาบันแห่งนี้คือ ต้องเป็นสถาบันที่ไม่หวังผลกำไร มีการเรียนการสอนภาษาจีน ฝึกอบรมอาจารย์ จัดการสอบ HSK (การสอบวัดความรู้ภาษาจีน) ให้การสนับสนุนข้อมูลด้านการศึกษาและวัฒนธรรมจีน จัดกิจกรรม ส่งเสริมวัฒนธรรมจีน เป็นต้น นอกจากนี้สถาบันขงจื่อสำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่งยังให้การสนับสนุนเงิน ครูสอนภาษาจีนและหนังสือเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานแต่ละปี สำหรับสถาบันขงจื่อ เส้นทางสายไหมทางทะเล ที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ทางประเทศจีนพิจารณาเห็นว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพและมีนักศึกษาจากประเทศจีนมาเรียนถึง 1,500 คน จึงขอให้ รศ.ดร.วราภรณ์ สาม-โกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หาสถานที่จัดตั้งสำนักงานสถาบันขงจื่อ เส้นทางสายไหมทางทะเล ในบริเวณมหาวิทยาลัย
ท่านเจ้าคุณบอกว่า ปัจจุบันนี้มีหน่วยงานต่างๆประมาณ 26 แห่ง สนใจเข้าร่วมงานกับสถาบันขงจื่อ เส้นทางสายไหมทางทะเล และได้มีการประชุมวางแผนการจัดกิจกรรมต่างๆหลายกิจกรรม ทั้งในเมืองไทยและเมืองจีน ผมคิดว่าผู้ที่ได้ร่วมกิจกรรมกับสถาบันขงจื่อ คงจะได้รับความรู้เกี่ยวกับขนมธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนจีน แถมยังสามารถพูดจาสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องต่างๆได้เป็นอย่างดี
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สถานท่ีตั้งสำนักงานสถาบันขงจื่อ เส้นทางสายไหมทางทะเล.
ผู้ผ่านการอบรมความรู้ภาษาจีน.
ขอชื่นชมท่านเจ้าคุณธงชัย ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลสามารถขยายความร่วมมือไปถึงทุกหน่วยงาน และที่สำคัญผลงานที่ท่านทุ่มเททำมาตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ภายใต้ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นยาวนานจนเป็นที่ประจักษ์ในสายตาของรัฐบาลจีนและคนไทยนับเป็นประโยชน์ต่อ นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ และประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง
ไหนๆก็มาพบท่านเจ้าคุณธงชัยวัดไตรมิตรแล้ว ขอพูดถึงวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารสักเล็กน้อย วัดไตรมิตรเดิมชื่อ วัดสามจีน สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยคนจีนสามคนได้ร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้นในปี พ.ศ.2374 เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่จึงมีมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่ามากมาย ที่อยากเชิญชวนท่านผู้อ่านมาเยี่ยมชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดแห่งนี้ เพราะได้ทราบมาว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก เดินทางมาวัดไตรมิตรทุกวัน เพื่อมากราบนมัสการ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือพระพุทธรูปทองคำ ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย สร้างด้วยทองคำบริสุทธิ์จากฝีมือช่างชั้นสูง จึงมีความงดงามเป็นพิเศษ แต่เดิมเคยมีปูนพอกทับและลงรักปิดทอง ต่อมาปูนกะเทาะออกทำให้เห็นองค์พระพุทธรูปทองคำที่ซ่อนอยู่ภายในเหลืองอร่ามงามตา จนได้รับการบันทึกในหนังสือกินเนสส์บุ๊ก (Guinness World Records) ว่าเป็น “ปูชนียวัตถุที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก”
การสอนภาษาจีนให้แก่หน่วยงานต่างๆ.
ถ้าท่านมาวัดไตรมิตรให้ไปที่พระมหามณฑป ขึ้นไปไหว้พระพุทธรูปทองคำ และชมนิทรรศการประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปองค์นี้ นอกจากนี้ยังมีศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช “ความรุ่งเรืองบนถนนสายทองคำ” ศูนย์แห่งนี้จะเล่าเรื่องกำเนิดชุมชนชาวจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สำเพ็ง–เยาวราช ย่านการค้าเก่าแก่ที่สำคัญของกรุงเทพฯ โดยจะเล่าขานตำนานผ่านภาพถ่าย หุ่นจำลอง วีดิทัศน์ และคอมพิวเตอร์ พิพิธภัณฑ์นี้ สำหรับคนไทยเข้าชมฟรีครับ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่วัดไตรมิตรวิทยาราม โทร.08-9002-2700 สำนักงาน โทร.0-2623-1277
นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตที่น่าไปชมเป็นอย่างยิ่ง
สวัสดี.
ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง"

สถาบันภาษาและวัฒนธรรมจีนปักกิ่ง Beijing Chinese Language and Culture College

สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล