ไม่หยุดมุ่งมั่นสร้างความสัมพันธ์ สถาบันขงจื่อภารกิจหนักหน่วง หนทางอีกยาวไกล

ไม่หยุดมุ่งมั่นสร้างความสัมพันธ์ สถาบันขงจื่อภารกิจหนักหน่วง หนทางอีกยาวไกล

--บทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Chinese-Thai No.1 2015 สุพีชา ตรีสัมพันธ์ หม่า เหรินเฟิ่ง ผู้สื่อข่าวประจำฉบับ2016-07-06
บทบรรณาธิการ:
ณ สำนักอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีท่านหญิงท่านหนึ่งท่าทางภูมิฐานและสง่างามสวมชุดไทยสีเหลืองนั่งทำงานอยู่ เมื่อท่านเห็นพวกเราก็ยิ้มต้อนรับด้วยความอบอุ่น  ท่านก็คือ ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ พระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและฝ่ายวิรัชกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองประธานกรรมการบริหารสถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเป็นนักวางแผนคนสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้สร้างคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่ต่อสถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดือนธันวาคม ค.ศ.2014 ในการประชุมสถาบันขงจื่อโลก ครั้งที่ 9  ท่านได้รับรางวัล “บุคคลดีเด่น” ของสถาบันขงจื่อทั่วโลก โดยได้รับมอบจากนางหลิว เหยียนตง รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันขงจื่อสำนักงานใหญ่ คอลัมน์ “บุคคลสำคัญประจำฉบับ” ฉบับนี้ พวกเราจะมารับฟัง ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ กล่าวถึงการพัฒนาของสถาบันขงจื่อไปพร้อมๆ กัน
ผู้สื่อข่าว: ตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 เป็นต้นมา ท่านรองฯ ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารสถาบันขงจื่อ และได้ทุ่มเทกำลังให้แก่งานเพื่อการพัฒนาสถาบันขงจื่อมาโดยตลอด สิ่งที่ท่านรองฯได้รับมากที่สุดจากตำแหน่งนี้คืออะไร
ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์: การได้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารสถาบันขงจื่อถือเป็นเกียรติอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างความสัมพันธ์ทั้งในระดับประเทศระหว่างไทยและจีน หรือในระดับมหาวิทยาลัยระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สถาบันขงจื่อล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาวิทยาลัยและสองประเทศ  การได้มาดำรงตำแหน่งดังกล่าวทำให้ต้องเดินทางไปประเทศจีนบ่อยครั้ง จึงทำให้รู้จักประเทศจีนและมหาวิทยาลัยปักกิ่งเพิ่มมากขึ้น  นอกจากนี้ ตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารสถาบันขงจื่อยังสอดคล้องกับภาระหน้าที่อื่นที่รับผิดชอบอยู่ในปัจจุบันคือ ตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและฝ่ายวิรัชกิจ (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) ด้านวิรัชกิจ ดิฉันสามารถสร้างความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผ่านการประสานความร่วมมือในโครงการต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ทำให้การประสานความร่วมมือหรือการแลกเปลี่ยนระหว่างไทย-จีนราบรื่นยิ่งขึ้น และเป็นผลดีต่อการทำงานของดิฉัน  ด้านวิชาการ เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมียุทธศาสตร์ความเป็นนานาชาติ ซึ่งมีความต้องการให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยประสานความร่วมมือกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ ในระหว่างการสร้างความร่วมมือด้านต่างๆ นั้น ดิฉันได้เห็นความเป็นเลิศทางวิชาการของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และอยากจะนำเอาความเป็นเลิศทางวิชาการนี้มาสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปัจจุบัน สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดตั้งสาขาการสอนภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศขึ้น สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งทดลองใหม่สำหรับสถาบันขงจื่อสำนักงานใหญ่ ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก
ผู้สื่อข่าว: ท่านรองฯ คิดว่าสาขาครุศาสตร์ภาษาจีนที่สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกันจัดตั้งขึ้นนั้น ควรจัดวางหลักสูตรอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาของสถาบันการศึกษาไทย และเพื่อร่วมกันผลิตบุคลากรที่เป็นครูภาษาจีน
ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์: หน้าที่หลักของสาขาครุศาสตร์ภาษาจีนคือ การผลิตอาจารย์ที่ชำนาญด้านการสอนภาษาจีน ลำดับแรก นิสิตต้องมีความรู้ทางภาษาจีนเป็นอย่างดี สถาบันขงจื่อสามารถเป็นหน่วยงานกลางที่ประสานความร่วมมือระหว่างคณะครุศาสตร์และสาขาวิชาภาษาจีน คณะอักษรศาสตร์ ใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่สาขาวิชาภาษาจีน คณะอักษรศาสตร์มีอยู่มาช่วยพัฒนาสาขาครุศาสตร์ภาษาจีน คณะครุศาสตร์ให้ดียิ่งขึ้น  สถาบันขงจื่อยังสามารถให้การสนับสนุนด้านบุคลากรสอนภาษาจีนและสื่อการเรียนการสอนที่ดีและมีคุณภาพให้แก่ทางสาขาครุศาสตร์ภาษาจีน  นอกจากนี้ สถาบันขงจื่อยังสามารถสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาจีนโดยการหาทุนให้นิสิตสาขาครุศาสตร์ภาษาจีนไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน เพื่อช่วยให้นิสิตได้ศึกษาภาษาจีนอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าว: ท่านรองฯ คิดว่าสถาบันขงจื่อควรมีบทบาทอย่างไรในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยและประเทศจีน อีกทั้งยังจะช่วยผลักดันการแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ระหว่างสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น
ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์: สถาบัน (ห้องเรียน) ขงจื่อเป็นดั่งเช่นประตูเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน หรือระหว่างสถาบันการศึกษาของทั้งสองประเทศ (อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยปักกิ่ง) สถาบันการศึกษาของทั้งสองประเทศสามารถแลกเปลี่ยนอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกๆ ศาสตร์ระหว่างกันได้โดยตรงผ่านประตูบานนี้  ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาของทั้งสองประเทศไม่จำกัดเพียงแค่การสร้างความร่วมมือกับสาขาวิชาภาษาจีน คณะอักษรศาสตร์เท่านั้น ยังขยายความร่วมมือไปยังสาขาครุศาสตร์ภาษาจีน คณะครุศาสตร์อีกด้วย  นอกจากนี้ ภายใต้การสนับสนุนของสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาตร์และธรรมชาติระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้พัฒนาไปอย่างมาก  ปัจจุบัน มีการทำวิจัยร่วมกันระหว่างศาตราจารย์ ดร.กู้ หงหย่า รองคณบดีคณะชีววิทยาศาสตร์ ศาตราจารย์หลิว จงฟั่น คณะเคมีศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกำลังดำเนินการผลักดันการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีอีกด้วย  ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นผลงานของสถาบันขงจื่อทั้งสิ้น
ผู้สื่อข่าว: เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานสอนภาษาจีนหรือสาขาวิชาภาษาจีนในมหาวิทยาลัยอื่นๆ แล้ว ท่านรองฯ คิดว่า สถาบันขงจื่อควรกำหนดบทบาทของตนเองให้เด่นชัดยิ่งขึ้นอย่างไร และสถาบันขงจื่อมีข้อดีด้านใดที่หน่วยงานอื่นไม่อาจแทนที่ได้
ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์: สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งเปิดสอนสาขาวิชาภาษาจีน แต่สถาบันขงจื่อมีข้อมูลด้านการศึกษาภาษาจีนทั่วโลกที่ทันสมัย มีบุคลากรการสอนที่เพียงพอ และมีสื่อการเรียนการสอนมากมายหลายประเภท ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยงานอื่นไม่อาจแทนที่ได้  อย่างไรก็ตาม ดิฉันหวังว่าสถาบันขงจื่อจะให้ความสำคัญและส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานสอนภาษาจีนอื่นๆ ให้พัฒนาไปพร้อมกัน และเรียนรู้ซึ่งกันและกันจึงจะเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ สถาบันขงจื่ออาจจะรวบรวมสื่อการสอนที่มีอยู่ทั่วโลก นำสื่อการสอนมาทำการประเมิน คัดเลือก และแนะนำสื่อการสอนภาษาจีนที่ดีเยี่ยมให้แก่หน่วยงานอื่นๆ เพื่อพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพการสอนภาษาจีนในต่างประเทศของแต่ละหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้น  ดิฉันคิดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันขงจื่อและหน่วยงานสอนภาษาจีนอื่นๆ ไม่ได้เป็นไปในลักษณะแข่งขันกัน แต่เป็นความสัมพันธ์แบบการได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย  ถึงแม้ว่าจะมีขอบเขตความสามารถที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดมุ่งหมายที่เหมือนกัน
ผู้สื่อข่าว: ระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนสิงหาคม พ.ศ.2557 สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัด “โครงการอบรมภาษาจีนกลางภาคฤดูร้อน” จำนวน 2 คอร์สขึ้น ภายใต้คำแนะนำของท่านรองฯ ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง ทั้งยังได้รับคำชื่นชมจากสถาบันขงจื่อสำนักงานใหญ่ ท่านรองฯ คิดว่าโครงการนี้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แต่แรกหรือไม่
ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์: สำหรับ “โครงการอบรมภาษาจีนกลางภาคฤดูร้อน” นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดอาจารย์และนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้มาสัมผัสเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน ซึ่งมีอาจารย์และนิสิตจากคณะต่างๆ ให้ความสนใจมาเข้าร่วมเรียนเป็นจำนวนมาก  แต่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ แค่ 2-3 เดือน ไม่อาจดำเนินการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่  ดิฉันหวังว่าจะมีวิธีอื่นๆ ที่ให้ผู้เรียนได้ต่อยอดความรู้ทางด้านภาษาและวัฒนธรรมจีนต่อไป
ผู้สื่อข่าว: ปัจจุบัน รัฐบาลจีนออกนโยบายต่างๆ เพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน สถาบันขงจื่อสำนักงานใหญ่ก็ได้สนับสนุนให้สถาบันขงจื่อแต่ละแห่งคัดเลือกนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นเข้าร่วมโครงการค่ายภาษาจีนฤดูร้อน ท่านรองฯ มีคำแนะนำอย่างไร สำหรับนักศึกษาต่างชาติที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน
ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์: สถาบันขงจื่ออาจใช้การสอบวัดระดับความรู้ทางภาษาจีน (HSK) มาเป็นเกณฑ์ จำแนกระดับการศึกษาของนักศึกษา  การจัดวางหลักสูตรควรเน้นการปูพื้นฐานเพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน  ทั้งนี้ ดิฉันหวังว่า การไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนของนักศึกษานั้นไม่ใช่แค่การไปศึกษาแต่เพียงภาษาจีนเท่านั้น แต่อยากให้ศึกษาวิชาความรู้ในศาสตร์อื่นๆ ด้วย สถาบันอุดมศึกษาในประเทศจีนอาจจะพิจารณารับนักศึกษาต่างชาติที่พื้นฐานภาษาจีนยังไม่ดีนัก แต่มีความชำนาญเฉพาะทางเข้าเรียน
ผู้สื่อข่าว: ปัจจุบัน สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังจะสร้างสถาบันขงจื่อต้นแบบของโลก ท่านคิดว่าสถาบันขงจื่อควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาในด้านใด
ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์: การจะเป็นสถาบันขงจื่อต้นแบบของโลกนั้น เราต้องมีความเป็นเลิศในสิ่งที่เราทำ สิ่งสำคัญคือการจัดกิจกรรมที่มีคุณภาพ อาทิ การมาเรียนรู้วัฒนธรรมจีนจากสถาบันขงจื่อ ก็จะมิใช่แค่การมาสัมผัสวัฒนธรรมเพียงเท่านั้นแต่ต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง  การผลิตครูสอนภาษาจีนก็ต้องมุ่งเน้นที่การพัฒนาคุณภาพไม่ใช่แค่ปริมาณ  นอกจากนี้เราควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของบุคลากรในสถาบันขงจื่อ อาจารย์ควรมีความรู้เฉพาะทางเป็นอย่างดี มีความชำนาญในหน้าที่หรืองานที่ทำ และควรพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ อยู่เสมอ
ผู้สื่อข่าว: สถาบันขงจื่อในประเทศไทยได้ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลา 8 ปี หากมองด้านการพัฒนาในระยะยาวแล้ว ท่านรองฯ คิดว่า สถาบันขงจื่อควรจะให้ความสำคัญกับการพัฒนางานในด้านใด
ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์: หากมองด้านการพัฒนาในระยะยาวแล้ว ลำดับแรก สถาบันขงจื่อควรทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ซึ่งมิใช่เพียงแค่การเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมจีนเท่านั้น แต่เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในศาสตร์ต่างๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยคู่สัญญา โดยการพัฒนาคุณภาพและก่อให้เกิดประสิทธิภาพอยู่เสมอ และสร้างความร่วมมือในลักษณะการได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย รวมถึงการก้าวไปข้างหน้าและการพัฒนาไปโดยพร้อมเพรียงกัน สิ่งเหล่านี้จึงจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าว: ท่านรองฯ เพิ่งจะเข้าร่วมการประชุมสถาบันขงจื่อโลก ครั้งที่ 9 และได้รับรางวัล “บุคคลดีเด่น” ของสถาบันขงจื่อทั่วโลก สิ่งที่ท่านรองฯ ได้รับมากที่สุดจากการไปร่วมงานครั้งนี้คืออะไร
ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์: ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับรางวัล “บุคคลดีเด่น” ของสถาบันขงจื่อทั่วโลก การประชุมใหญ่สถาบันขงจื่อมีความสำคัญอย่างสูงสำหรับผู้บริหารสถาบันขงจื่อ ซึ่งการประชุมแต่ละปีก็จะมีความพิเศษแตกต่างกัน  สำหรับสิ่งที่ดิฉันได้รับจากการเข้าร่วมการประชุมใหญ่สถาบันขงจื่อ ครั้งที่ 9 คือ การได้รับฟังนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันขงจื่อแบบใหม่จากมาดามสวี่ หลิน ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานในปัจจุบันของตนเองได้  เนื่องจากแต่ละประเทศมีลักษณะแตกต่างกัน วิธีการเรียนการสอนจึงมากมายและหลากหลาย สำนักงานฮั่นปั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มาดามสวี่ หลินยังเป็นผู้จุดประกายความคิดด้านการเรียนการสอนภาษาจีน  นอกจากนี้ ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กับสถาบันขงจื่อทั่วโลก ได้เรียนรู้วิธีการทำงานของสถาบันขงจื่อที่อื่นๆ เราสามารถศึกษา นำประสบการณ์และข้อดีของพวกเขามาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาสถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของเราให้ดียิ่งขึ้น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง"

สถาบันภาษาและวัฒนธรรมจีนปักกิ่ง Beijing Chinese Language and Culture College

สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล