มองจีนยุคใหม่ผ่าน"สงครามการค้า"
มองจีนยุคใหม่ผ่าน"สงครามการค้า"
วันที่ 3 กันยายน 2562 - 00:10 น.

มองจีนยุคใหม่ผ่าน"สงครามการค้า"สู่การพัฒนา"เทคโนโลยี"เปลี่ยนโลก
คำกล่าวที่ว่า “เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” ไม่น่าจะเกินจริง การก้าวสู่ยุค 5G หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีนได้สร้างความปั่นป่วนให้คนทั้งโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนก็เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้
“หลังยุคสงครามเย็นโลกกลับเข้าสู่ยุคที่เสถียร หรือโลกาภิวัฒน์ ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา เชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน มีมหาอำนาจหนึ่งเดียวคือสหรัฐ และเป็นมหาอำนาจที่ทรงพลังมาก ใครจะไปรู้วันหนึ่งระเทศที่ประชาชนยากจนแร้นแค้น มีความล้าหลังทางเทคโนโลยีอย่างจีนกลับกลายเป็นคู่ต่อสู้ที่น่ากลัวที่สุด ต้นเหตุสงครามการค้าที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความกลัวของสหรัฐที่มีต่อจีนในเรื่องนี้ เพราะใครครองเทคโนโลยีคนนั้นครองโลก”
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างการบรรยายพิเศษแก่สื่อมวลชนไทยที่เข้าร่วมโครงการ "มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้" จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอโนมา แกรนด์ ราชประสงค์
ดร.อาร์ม ระบุว่า ในอดีตสหรัฐเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือแก่จีนใน 3 เรื่องได้แก่ สินค้า พ่อค้าและแพลตฟอร์มต่างๆ โดยหวังว่าสุดท้ายเมื่อเขาอยู่ดีกินดีขึ้นเขาจะเปลี่ยนการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยเหมือนกันและต้องการผนวกเอาจีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโลก ซึ่งเห็นได้จากปี 2000 จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก หรือ ดับเบิลยูทีโอ โดยการสนับสนุนจากสหรัฐ
ในช่วง 10 ปีมานี้ทำให้จีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปสู่ยุค 5G หรือเอไอ ปัญหาประดิษฐ์อย่างเต็มรูปแบบ หรือ China5.0 เห็นได้จากไทม์ไลน์ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของจีนจากแผนเมด อินไชน่า 2025 โดยจะมีการกำหนดสัดส่วนให้จีนถือหุ้นในอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งหมายความว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะมีจีนเป็นผู้ครองโลก จากนั้นในปี 2030 จะมีการพัฒนาเทคโนเอไอ ปัญหาประดิษฐ์มีการใช้อย่างเต็มรูปแบบ
และได้สร้างความวิตกกังวลให้สหรัฐในฐานะผู้นำโลกให้ความช่วยเหลือจีนมาก่อนกลายเป็นจุดชนวนประกายมาเป็นสงครามการค้าระหว่างกัน แต่ในขณะมุมนักเศรษฐศาสตร์มองว่าสงครามการค้าครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะทั้งสหรัฐและจีนจะแพ้ทั้งคู่ โดยสิ่งที่สหรัฐจะได้รับผลกระทบคือผู้บริโภคสหรัฐจะต้องซื้อของแพงขึ้น บริษัทสหรัฐในจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นและเมื่อจีนเก็บภาษีตอบโต้เกษตรสหรัฐและธุรกิจสหรัฐได้รับผลกระทบ
เพราะทุกวันนี้จีนเป็นประเทศนำเข้าถั่วเหลืองอันดับหนึ่งจากสหรัฐ ที่สำคัญจะไม่มีทางที่การลงทุนจะไหลกลับมายังสหรัฐอีกต่อไป สุดท้ายสหรัฐก็ต้องซื้อของจากประเทศอื่นแทน ส่วนจีนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐจะน้อยลง รวมทั้งบริษัทของสหรัฐในจีนจะย้ายฐานการลงทุน
สอดคล้องกับมุมมองของ หยาง หยาง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัคราชทูตจีนประจำประเทศไทย ที่ยืนยันชัดเจนว่าสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาจะไม่เกิดขึ้นและประเทศจีนจะไม่ยอมทำสงครามกับใครใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะถูกบังคับจากสหรัฐอเมริกา เพราะสงครามการค้าไม่มีฝ่ายใดชนะ มีแต่แพ้กับแพ้ ต่างคนต่างแพ้ สุดท้ายประชาชนต้องเดือดร้อน

"เราขอย้ำอีกครั้งว่า เราไม่กลัว นี่คือท่าทีของจีน” หยาง หยางกล่าวย้ำ
พร้องยังชี้ให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก 2562 การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลดลงเหลือ 6.4% ซึ่งเป็นจุดต่ำที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจจีนยังไหว เพราะตลอดทั้งปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าจีนไม่ยอมล้ม ดูจากยอดส่งออก 7 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้น จึงทำให้จีนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและยังรักษาแนวโน้มนี้ต่อไปได้เพราะจีนได้เดินหน้าเติบโตจากการเน้นความเร็วสูงเป็นเน้นคุณภาพของการเติบโต โดยเน้นกระตุ้นความต้องการภายในของประเทศเป็นหลัก
“สัดส่วนการส่งออกแม้ลดลงจากเคยสูงสุดกว่า 60% เหลือ 33% แต่สัดส่วนการบริโภคในประเทศครึ่งปีแรกของปีนี้ (2562) มีส่วนช่วยการเติบโตเพิ่ม 60.1% แสดงว่าความต้องการภายในของจีนเป็นแรงกระตุ้นหลักของประเทศ”
หยาง หยาง ย้ำว่า จีนไม่มีวันปิดประตูุ แต่เราต้องเปิดประตูให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ด้วยการออกกฎหมายการลงทุนของชาวต่างชาติ พยายามพัฒนาสิ่งแวดล้อมในการลงทุน ยินดีเปิดประตูรับการลงทุนจากทุกประเทศ ล่าสุดโคสโควซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ของอเมริกาก็มาเปิดสาขาแรกที่เซี่ยงไฮ้ มีสื่อมวลชนบอกว่าที่นี่มีการจัดที่จอดรถที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการยังต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมงกว่าจะได้ที่จอดรถ
"แสดงให้เห็นว่าจีนเราได้เปิดประเทศให้นักลงทุนทุกคน รวมทั้งบริษัทอเมริกา แม้ภายใต้สงครามการค้า เรายินดีให้นักลงทุนทุกคนมาขายสินค้าที่จีน แสดงว่ามีคนอีกจำนวนมากยังมองเห็นอนาคตที่ดีของเศรษฐกิจจีน แสดงว่าพวกเขาไม่ยอมทอดทิ้งเศรษฐกิจมโหฬารของจีน รวมทั้งอเมริกาที่ไม่ยอมปล่อยตลาดจีน”
หยาง หยาง ย้ำด้วยว่า สงครามการค้าครั้งนี้จีนไม่ใช่เป็นคนริเริ่ม แต่เป็นฝ่ายอเมริกาต่างหากที่พยายามขยายขอบเขตของสงครามการค้า เพราะไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอเมริกาเองด้วย อาจจะอยู่ตกอยู่ในภาวะอันตราย
“ถามว่าจีนจะเจรจากับอเมริกาหรือไม่ เราไม่ได้ปิดประตูการเจรจากับอเมริกา แต่ท่าทีของจีนยังชัดเจนตลอด การเจรจาต้องดำเนินบนพื้นฐานการเคารพผลประโยชน์ที่แท้จริงซึ่งกันและกัน จึงจะดำเนินได้ นี่คือท่าทีของจีน” ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยกล่าวย้ำทิ้งท้าย
ย้อนประวัติ“จีน”จากอดีตสู่ปัจจุบัน
“ถ้าเรารู้เท่าทันจีน จะเป็นโอกาสของเรา แต่ถ้าเรารู้ไม่เท่าทันจีนจะเป็นภัยคุกคาม” บทสรุปของ "รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล" อาจารย์พิเศษภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนกล่าวระหว่างการบรรยายหัวข้อ "ย้อนอดีตจีนจากยุคเติ้ง (เสี่ยวผิง) สู่ยุคสี จิ้นผิง" โดยผู้นำจีนคนปัจจุบันได้ดำเนินนโยบายพยายามลดสัดส่วนอาชีพเกษตรกรโดยนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลผลิตมากขึ้นเพื่อให้เกษตรกรลดลง
โดยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จีนทุ่มงบประมาณ 196 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่เมืองลดสัดส่วนชนบท โดยตั้งเป้าให้เหลือเพียงร้อยละ 30 จากสัดส่วนร้อยละ80- 90 ในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งจีนมีจำนวนประชากรมากกว่า 1,600 ล้านคน สิ่งที่จีนกังวล คือความมั่นคงทางอาหาร เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นจีนจึงมุ่งไปหาอาหารจากนอกประเทศของตัวเอง

อ.วรศักดิ์ เล่าถึงสาระสำคัญของจีนในแต่ละยุค เริ่มจากจีนก่อนยุค ค.ศ.1978 ก่อนเปิดประเทศในยุคผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิว มี 3 รูปแบบบ คือ แนวทางสังคมนิยม เช่น การเมืองสังคมนิยม การพัฒนาเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม โดยปกครองแบบพรรคคอมมิวนิสต์ ใช้อำนาจอย่างเดียว ทุกอย่างล้วนเป็นของรัฐบาล เช่น ที่ดิน ท้องนา บ้าน โรงงาน ชาวบ้านทุกคนมีงานทำ ทั้งภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม แต่เป็นในรูปแบบคนงานของรัฐ ทำงานให้รัฐ รัฐบาลมีสวัสดิการให้แต่เป็นในรูปแบบสังคมนิยม คือดูแลทั้งชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย จึงเรียกยุคนี้ว่าการปฏิวัติวัฒนธรรม ใน ค.ศ.1966-1976
อ.วรศักดิ์ เล่าว่า ต่อมาจีนในทศวรรษ 1980 ภาคเกษตรกรรม เป็นระบบความรับผิดชอบหรือระบบพันธสัญญา มีการเปิดรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีการยกเว้นภาษีให้เจ้าของธุรกิจ หากเจ้าของธุรกิจสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้จีนได้ ก็จะเป็นแรงจูงใจในเรื่องภาษีอีกช่องทางหนึ่ง ขณะที่การปกครองโดยกฎหมายและวาระการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีวาระ 5 ปีและเป็นได้ไม่เกิน 2 สมัย
จากนั้นเข้าสู่ทศวรรษ 2000 จีนเข้าสู่การเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ ดับเบิลยูทีโอ มุ่งสู่การค้าเสรี การสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน โดยจีนต้องใช้เวลากว่า 15 ปีในการเข้าดับเบิลยูทีโอ และต้องชี้แจงให้ประชาชนในประเทศรับรู้เหตุผลในการเข้า ดับเบิลยูทีโอมีการเปิดเสรีภาคการเงิน มีการขยายอิทธิพลด้วยอำนาจอ่อน (Soft power) และในทศวรรษ 2010 จีนมีความฝันใน 3 เรื่อง ได้แก่ วาระ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน 2021 ซึ่งจะถึงในอีก 2 ปี ถ้าจีนทำได้คนในประเทศจีนจะกินดีอยู่ดี วาระ 100 ปีสาธารณรัฐประชาชนจีน 2049 จีนตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจากข้อริเริ่มแถบและทาง (Belt and Road nitiative) ทั้งด้านโลจิสติกส์ทางบกและทางทะเล
นี่คือเป้าหมายใหญ่และสำคัญที่สุดของจีนกับการก้าวสู่ประเทศที่ได้ชื่อว่า “พัฒนาแล้ว”
สงครามการค้าที่ไม่มีใครชนะ จีนมองเป็น ‘วิกฤติ’ หรือ ‘โอกาสทอง’
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ศุลกากรจีนเผยตัวเลขภาคการส่งออกเดือนสิงหาคม 2562 ปรับลดลง 1% จากปีก่อนหน้า นับเป็นการปรับลดลงครั้งใหญ่ต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายน ที่ลดลงไป 1.3% ในขณะที่ตัวเลขนำเข้า หดตัวลงเป็นเดือนที่ 4 นับจากเดือนเมษายน ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่กำลังดำเนินมาถึงจุดตึงเครียด นับตั้งแต่ช่วงปี 2561ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างประกาศขึ้นภาษีตอบโต้กันเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นับเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก่อนหน้านี้ นางหยาง หยาง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองประจำสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ "มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้” ที่ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ China Media Group (CMG) จัดขึ้นที่โรงแรมอโนมา แกรนด์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยกล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของจีน ได้รับผลกระทบแรงในครึ่งปีแรก 2562 โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเหลือ 6.4% ซึ่งเป็นจุดต่ำที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจจีนยังไหว เพราะความจริงตลอดทั้งปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าจีนไม่ยอมล้ม แต่ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เองอาจจะกำลังเสี่ยงอันตรายมากกว่า

นางหยาง หยางเชื่อมั่นว่า สงครามการค้าจะไม่มีใครชนะ แต่ถึงอย่างไรจีนก็จะไม่ยอมแพ้ และจีนไม่กลัว เนื่องจากปัจจุบัน จีน แม้ว่าภาคส่งออกจะลดลง แต่การบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ 60.1% เป็นส่วนช่วยในการเติบโตของเศรษฐกิจจีน โดยมองว่าสงครามการค้าที่สหรัฐฯ เป็นฝ่ายบังคับให้จีนเข้ามาสู้ และพยายามจะขยายขอบเขตออกไป เป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการสกัดและปิดล้อมเศรษฐกิจจีน ทำให้จีนเป็น ‘แพะรับบาป’ ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองภายในของสหรัฐฯ เองมากกว่า

นับตั้งแต่สงครามการค้าเริ่มปะทุขึ้น สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน 3 รอบในปีที่แล้ว และรอบที่ 4 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา รวมเป็นมูลค่ากว่า 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่จีนขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ตั้งแต่ 5% ไปจนถึง 25% เป็นมูลค่ารวมกว่า 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้านดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน อธิบายว่า สงครามการค้าครั้งนี้ ‘จีนอาจจะเจ็บแต่ไม่ถึงฆาต’ เนื่องจากหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ จีนหันมาเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ปัจจุบันจีนได้ลดการส่งออกเหลือเพียง 19% ของ GDP โดยส่งออกไปสหรัฐฯ เพียง 18.4% และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอก

โดยในช่วงที่เกิดสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ปรากฏว่า จีนมีการลดกำแพงภาษีกับประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าหลังจากผ่านพ้นสงครามการค้าไปแล้ว มีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้เป็นผู้นำเดี่ยวของโลกอีกแล้ว เนื่องจากจีนมีแผนปฏิรูปภายใน ทำวิกฤติให้เป็นโอกาส ตั้งแต่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เปิดเศรษฐกิจและส่งเสริมการแข่งขัน โดยให้เอกชนเข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีนโยบายลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยให้เหตุผลในการเปิดฉากสงครามการค้ากับจีนว่า จีนทำการค้าแบบไม่เป็นธรรมและมีการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งข้อกล่าวหานี้ดูเหมือนจะเป็นการพุ่งเป้าโจมตีบริษัทเทคโนโลยีการสื่อสาร "หัวเว่ย" ของจีน
หัวเว่ยเคยยอมรับว่า สงครามการค้าอาจส่งผลต่อการพัฒนาของบริษัท แต่ก็เชื่อว่าจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยผลิตภัณฑ์หลักของหัวเว่ยไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยลูกค้ายังคงมีความเชื่อมั่น เลือกซื้อสินค้าและบริการของหัวเว่ย ด้วยความไว้วางใจ

ขณะเดียวกัน นายหลิว จิงหยาง ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของหัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเซียนเปิดเผยว่า หัวเว่ยมีผลประกอบการในปี 2561 รวมกว่า 721,000 ล้านหยวน แม้ว่าปีนี้จะเผชิญกับวิกฤตการณ์ แต่หัวเว่ยยังโตถึง 3,000 กว่าล้านหยวน และแม้จะโดนมรสุมแต่หัวเว่ยยังไม่เปลี่ยนทิศทาง ยังคงมุ่งมั่นที่จะลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปเรื่อยๆ
สหรัฐฯ เคยเชื่อมั่นว่า การทำสงครามการค้ากับจีนเป็นเรื่องที่ถูกต้อง สมควรต้องทำและเชื่อว่าจะสามารถชนะจีนได้อย่างง่ายๆ แต่คงลืมไปว่านโยบายเหล่านี้ทำให้เห็นว่าที่จริงแล้ว เศรษฐกิจจีนแข็งแกร่งจนน่าตกตะลึง และจากตัวเลขที่ออกมาดูเหมือนจะไม่ง่ายอย่างที่คิด ในขณะที่จีนเพียงแต่รอให้สถานการณ์คลี่คลายเมื่อถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปีหน้า
ต้นเดือนตุลาคมนี้ หลายฝ่ายรอดูว่า บทสรุปของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะมีบทสรุปอย่างไร เมื่อจีนและสหรัฐฯ ตกลงที่จะเปิดการเจรจากันอีกรอบ นับตั้งแต่การเจรจาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาประสบความล้มเหลว.
ซัด "ทรัมป์" เอาจีนเป็นแพะรับบาปการเมืองภายใน ปูดแดนมังกรเริ่มใช้ระบบเรตติ้งประเมินชีวิต
เผยแพร่: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
วันนี้ (31 ส.ค.) ที่โรงแรมอโนมา ราชประสงค์ กทม. เมื่อเวลา 09.45 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ได้จัดการอภิปรายในหัวข้อ มองจีนยุคใหม่ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ โดยมีนายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ นางหยาง หยาง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวต้อนรับ โดยนายมงคล กล่าวว่า การอภิปรายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการอบรมให้แก่ผู้สื่อข่าวไทยซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยมีทางสถานเอกอัครราชทูตจีนฯ ให้การสนับสนุนแต่ไม่ได้ก้าวก่ายหรือแทรกแซงทั้งในการเลือกวิทยากรหรือเลือกเยี่ยมชมสถานที่ใดๆ ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ก็มีการประสานงานกับหลายประเทศเช่นกัน
ด้าน นางหยาง หยาง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า กิจกรรมนี้จะเป็นการสร้างสะพานเชื่อมโยงความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย โดยหวังจะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในมุมที่หลากหลาย ขณะที่ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 70ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจีนมีความเจริญเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 ที่เปิดประตูสู่ภายนอก ขณะที่ชีวิตความเป็นอยู่ก็ตั้งเป้าพัฒนาขจัดความยากจนโดยคาดว่าจะสามารถขจัดได้อย่างสิ้นเชิงในปีหน้า พร้อมยืนยันว่าจีนไม่ยอมทำสงครามการค้ากับใคร แต่เป็นเพราะสหรัฐอเมริกาบังคับ เพราะชัดเจนว่าสงครามการค้าไม่มีฝ่ายชนะ แต่ขอย้ำว่าจีนไม่กลัว แต่ก็ต้องยอมรับว่าจีนและสหรัฐฯ ก็ได้ผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยเศรษฐกิจจีนในครึ่งปีแรกเติบโตลดลง 6.4% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี แต่ก็ยังไหว
นางหยาง กล่าวว่า ที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่าจีนไม่มีวันล้ม ยอดมูลค่าส่งออก-นำเข้าเพิ่มขึ้น แต่ปรับจากการเติบโตความเร็วสูงมาเน้นการเติบโตที่เน้นคุณภาพ โดยเน้นความต้องการภายในเป็นหลักอาศัยการส่งออกลดลง , นวัตกรรม การลงทุนด้านวิจัยศึกษา การลงทุนด้านอุตสาหกรรมไฮเทค , พยายามผลักดันโครงสร้างพื้นฐานระบบใหม่ในทุกด้าน , เปิดประตูรับการลงทุน ทั้งการลดภาษีศุลกากรเหลือ 7.5% และกฎหมายการลงทุนต่างประเทศ จีนเปิดกว้างรับนักลงทุนรวมถึงสหรัฐฯ แม้ในภาวะสงครามการค้าก็ยินดีให้มาลงทุน โดยเชื่อว่ารัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เอาจีนเป็นแพะรับบาปของการต่อสู้การเมืองภายในสหรัฐฯ และความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจเชิงลึก พร้อมยืนยันจีนไม่ได้ปิดประตูการเจรจา แต่ท่าทีของจีนชัดเจนคือการเจรจาต้องดำเนินบนพื้นฐานเสมอภาคเคารพผลประโยชน์แท้จริงซึ่งกันและกัน
ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนนั้น นางหยาง กล่าวว่า จะมีการยกระดับความร่วมมือเข้าสู่อีกระดับ และยินดีจูงมือฝ่ายไทย ผลิต ผลักดันโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเชื่อมโยงการพัฒนาระยะกลาง ระยะยาว ตามแผนที่ไทยต้องการเป็นศูนย์กลางอาเซียน และพร้อมยินดีร่วมมือเร่งเดินหน้ารถไฟเร็วสูงเชื่อมโยงลาว เปิดตลาดกว้างใหญ่ รวมทั้งร่วมมือผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอล , เอไอ , โลจิสติกส์ , โทรคมนาคม , อุตสาหกรรมใหม่ , การพัฒนาอีคอมเมอร์ส และ เทคโนโลยี 5G
จากนั้นเข้าสู่การอภิปรายโดยมี นายปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายโจ ฮอร์น พัทธโนทัย กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy 613 ร่วมเสวนา โดยนายปิติ กล่าวถึงจีนในยุคปัจจุบันที่เรียกว่า นิว นอร์มอล (New Normal) เป็นการปฏิรูปภายใต้การนำของ นายสี เจิ้น ผิง ประธานาธิบดี ในความคิดสังคมนิยมเชิงอัตลักษณ์ มีนโยบายที่สำคัญอย่าง เมด อิน ไชนา 2025 ที่ต้องการให้ประชากรจีน 60-70% หันมากินใช้ภายในประเทศ โดยเริ่มจากทำให้คนจีนรวยแล้วก็ให้หันมาซื้อของจีนโดยต้องทำให้เป็นของมีคุณภาพในปี 2025 เปิดโอกาสให้สินค้าที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมาลงทุนโดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนแต่แลกกับการที่ต้องมาตั้งสำนักงานใหญ่ในจีนพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ ส่วนอีกนโยบายสำคัญคือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่หวังจะเชื่อมทั้งโลกและสร้างพันธมิตรใหม่ แต่ถูกหลายประเทศไม่สนับสนุนจนต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Belt and Road เน้นการแชร์เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นายปิติ กล่าวต่อว่า นายสี ได้เดินตามและปรับเปลี่ยนเป้าหมายของ นายเจียง เจ๋อ หมิน ประธานาธิบดี โดยตั้งเป้าว่าในปี 2021 ในวาระครอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ คนจีนต้องกินดีอยู่ดี , ในปี 2035 สังคมจีนเข้มแข็งและทันสมัยขั้นพื้นฐาน และในปี 2049 ที่ครบ 100 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน จะต้องเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่สังคมเข้มแข็งทันสมัย และมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างสมบูรณ์ภายใต้นโยบายจีนเดียว แต่กระนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้นายสี สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้เรื่อยๆ ก็ทำให้ถูกมองว่าเป็นความพยายามสร้างระบบจักพรรดิขึ้นมาใหม่ จีนจึงต้องปรับเปลี่ยนระบบคานอำนาจใหม่ คือเพิ่มคณะกรรมาธิการกำกับดูแลด้านทุจริตคอรัปชั่นแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบการทุจริตทั้งในและโครงการจีนในต่างประเทศ
นอกจากนี้ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษาฯ ยังกล่าวถึงระบบปิดกั้นการเข้าถึงโลกไซเบอร์ของรัฐบาลจีน หรือ ไชนา เกรท ไฟร์วอลล์ ที่สร้างระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก การเงิน การค้า และบันเทิง ที่คล้ายกับสังคมโลกขึ้นมาแต่ให้ใช้กันภายในประเทศว่า ล่าสุดได้เริ่มมีการใช้ระบบโซเชียล เครดิต เรทติ้ง ที่เชื่อมโยงประวัติ พฤติกรรมการใช้จ่ายต่างๆ และการใช้ชีวิตประจำวัน ผ่านบัตรเครดิตและอุปกรณ์ทันสมัย นำไปประเมินเพื่อเป็นเรตติ้ง หากคนใดมีพฤติกรรมที่เหมาะสมทั้งการใช้จ่ายและการใช้ชีวิตจนได้เรตติ้งสูงๆ ก็อาจจะทำธุรกรรมบางอย่างได้ง่ายขึ้น เช่น การกู้เงิน แต่ถ้าคนใดได้เรตติ้งต่ำก็อาจจะเข้าถึงบางบริการไม่ได้ รวมไปถึงอาจถูกห้ามออกนอกประเทศด้วย
ขณะที่นายโจ กล่าวว่า สิ่งที่น่าติดตามคือโมเดลใหม่ของจีนที่สืบเนื่องจากอดีตทั้งนวัตกรรม , นโยบายเมด อิน ไชน่า 2025 โดยเฉพาะ นโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่เชื่อว่ามาจากความต้องการทางเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรางรถไฟ , ถนน โดยปัจจุบันได้เริ่มปรับตัวทั้งการใช้นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และการปราบปรามทุจริตที่เกิดขึ้นจากโครงการนอกประเทศ ส่วนปัญหาสงครามการค้านั้น ในอีกมุมก็ทำให้จีนเริ่มรู้ตัวว่ายังประสบปัญหาด้านนวัตกรรมอีกมาก โดยเชื่อว่านายสี จะยังครองอำนาจอยู่อีกยาว แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางพรรคคอมมิวนิสต์และปัจจัยทางเศรษฐกิจที่จะกำหนดอนาคต
นายโจ ยังกล่าวถึงปัญหาการประท้วงในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงว่า สิ่งที่ทำให้คนออกมาคือประชาชนพบว่าตนไม่มีอนาคต ทั้งจากปัญหาความเจริญที่ย้ายฐานไปสู่แผ่นดินใหญ่มากกว่า และปัญหาจากนโยบายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็มีจากการบริหารของผู้นำฯ ฮ่องกงที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันชาวฮ่องกงเองก็ยังเข้าใจทางประวัติศาสตร์ของตัวเองไม่ถูกต้อง จึงต้องหาคนที่สามารถทำให้ฮ่องกงพัฒนาเข้ามาบริหาร ส่วนระบบโซเชียล เครดิต เรทติ้ง ของจีนนั้น ขณะนี้ก็มีปัญหาเพราะภาคเอกชนไม่แบ่งปันข้อมูลให้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น