เศรษฐกิจจีนชะลอตัว

ธนาคารกลางจีนอาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในรอบ 4 ปี ตาม Fed ที่อาจลดดอกเบี้ย

นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ถ้าหากธนาคารกลางสหรัฐปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา

People’s Bank of China ธนาคารกลางจีน
ภาพจาก Shutterstock

นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางจีน หรือ PBoC อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี ถ้าหากธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed นั้นลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งตลาดคาดว่าน่าจะลด 0.25% ในการประชุมของ Fed ในเดือนหน้า โดยคาดว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายนี้จะทำให้จีนสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
แม้ว่าในไตรมาส 1 ทีผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนจะดีกว่าคาดของนักวิเคราะห์ อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลข GDP ของจีนในปีนี้จะแตะเลขขอบล่างที่รัฐบาลจีนคาดไว้ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6% ถึง 6.5% ทำให้คาดว่ารัฐบาลจีนจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ
สำหรับมุมมองของ Li Keqiang นายกรัฐมนตรีจีน มองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้บริษัทขนาดกลางและเล็กของจีนมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงซึ่งเป็นผลดีกับธุรกิจเหล่านี้
Yi Gang ผู้ว่าการการธนาคารกลางจีน ได้กล่าวกับสำนักข่าว Bloomberg เมื่อต้นเดือนมิถุนายนว่า ธนาคารกลางจีนยังมีนโยบายทางการเงินที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจจีนได้อีกมาก ถ้าหากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนทำให้เศรษฐกิจจีนย่ำแย่กว่าคาด
Lu Ting นักวิเคราะห์จาก Nomura คาดว่าจีนอาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงประมาณ 0.1% โดยปัจจุบันดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีนอยู่ราวๆ 2.55% นอกจากนี้ยังคาดว่าจีนจะมีนโยบายทางการเงินอื่นๆ ที่อาจนำมาใช้ได้อีกเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาจีนได้ใช้วิธีลด RRR ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าระบบธนาคารมากขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงที่ผ่านมามีตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่สำหรับนโยบายทางการเงินนั้นประธานาธิบดีสหรัฐกลับไม่พอใจการดำเนินงานของธนาคารกลางสหรัฐมากเท่าไหร่นัก เนื่องจากรีบร้อนขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไป โดยล่าสุดประธานาธิบดีสหรัฐยังได้เปิดศึกกับ Fed อีกรอบด้วย
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐ เคยได้กล่าวว่า จีนเตรียมปั๊มเม็ดเงินไหลเข้าภาคเศรษฐกิจรวมไปถึงภาคการเงิน นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จีนจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อที่จะสร้างปัญหาให้กับสหรัฐ และถ้าหากธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยนโยบายให้สัมพันธ์กับจีนแล้ว สหรัฐจะชนะในเกมนี้

ที่มา – Reuters

https://brandinside.asia/pboc-may-cut-rates-follow-fed-first-time-4-years/


จีนเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจโดยลด VAT ภาคการผลิต หลังจากรัฐบาลปรับเป้า GDP ปีนี้โตแค่ 6-6.5%

รัฐบาลจีนเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจจีนครั้งใหม่ด้วยการลด VAT ให้กับอุตสาหกรรมการผลิต หลังจากนายกรัฐมนตรีจีนได้ปรับเป้า GDP ของจีนปีนี้โตแค่ 6-6.5% ต่ำสุดในรอบหลายปี
ภาพจาก Unsplash
จีนเตรียมที่จะลดภาษีเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจจีน หลังจากนายกรัฐมนตรี หลี่ เคอเฉียง ได้ส่งรายงานต่อสภาประชาชนแห่งชาติจีน หรือ NPC ได้ประมาณอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ในปีนี้ไว้ที่ 6% ถึง 6.5% ซึ่งการประมาณตัวเลข GDP กรอบล่างของเศรษฐกิจจีนนี้ถือว่าต่ำที่สุดในรอบหลายปี
สำหรับปีนี้เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากแรงกดดันสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงหนี้ของจีนที่กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลล่าสุดจาก Bloomberg นั้นจีนมีหนี้ต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 265% ทำให้จีนต้องเร่งลดความเสี่ยงจากเรื่องหนี้ นอกจากนี้เป้าหมายของรัฐบาลจีนคือลดความยากจนของประชาชนอีกด้วย
ถ้าหากจีนต้องการที่จะเพิ่มขนาดของเศรษฐกิจจีน 2 เท่าตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปี 2020 จีนจะต้องมีการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ 6.2% ซึ่งถ้าหากรัฐบาลจีนกระตุ้นเศรษฐกิจมากไปก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงของเศรษฐกิจ เช่น หนี้ที่สูงขึ้น แต่ถ้าหากจีนไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเลยก็เป็นความเสี่ยงต่อประชาชนจีนเอง เช่น การว่างงานสูงขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ
ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงทำให้รัฐบาลจีนต้องจัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ เช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT สำหรับธุรกิจก่อสร้างและขนส่งเหลือ 9% จากเดิม 10% สำหรับภาคการผลิต VAT จะเหลือเพียงแค่ 13% จาก 16%
นายกรัฐมนตรีจีน ยังได้กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจจีนในปีนี้พบกับความท้าทายในหลายเรื่อง เช่น ความเสี่ยงเศรษฐกิจ รวมไปถึงสภาวะแวดล้อมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และเรื่องเหล่านี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จีนต้องเตรียมตัวกับสภาวะยากลำบากที่จะเกิดขึ้น การลดภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าธรรมเนียมต่างๆ จะทำให้มีเม็ดเงินเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจมากถึง 2 ล้านล้านหยวนในปีนี้
ไม่เพียงแค่การลดภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น แต่จีนยังเตรียมที่จัดทำงบประมาณขาดดุลในปี้นี้เพิ่มอีกด้วย ซึ่งคาดว่าในปีนี้จีนจะมีงบประมาณขาดดุล -2.8% ของ GDP จีน มากกว่าในปี 2018 ที่จีนทำงบประมาณขาดดุล -2.6% ของ GDP
ที่มา – Channel News AsiaArab NewsGlobal TimesBloomberg

ยอดการจับจ่ายในช่วงตรุษจีนโตต่ำสุดในช่วง 8 ปี สร้างความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัว


ยอดการจับจ่ายของชาวจีนในปีเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี สร้างความกังวลถึงเศรษฐกิจจีนว่ากำลังจะเข้าสู่ช่วงชะลอตัวอย่างจริงจัง และรวมไปถึงผลพวงจากสงครามการค้า




ภาพจาก Unsplash

กระทรวงพาณิชย์ของจีนรายงานยอดการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจีนในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาว่าเติบโตเพียงแค่ 8.5% อยู่ที่ประมาณ 1.01 ล้านล้านหยวน เติบโตต่ำสุดในรอบ 8 ปี ทำให้สร้างความกังวลถึงเศรษฐกิจจีนถึงการชะลอตัวในช่วงที่จะถึงนี้ จากหลากหลายปัจจัยที่เพิ่มขึ้น เช่น สงครามการค้า หรือแม้แต่ความมั่งคั่งของชาวจีนที่ลดลงเนื่องจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของจีนที่ลดลงเช่นกัน
สำหรับรายได้ของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ 513,900 ล้านหยวน เติบโต 8.2% ถ้าหากเทียบกับปีที่ผ่านมากลับลดลงถึง 12.6% ขณะที่ยอดการซื้อตั๋วหนังผ่านระบบของ Alibaba กลับเติบโตเพียงแค่ 1% เท่านั้น
แต่ขณะที่การซื้อของออนไลน์กลับเติบโตขึ้นสวนทางอย่างเห็นได้ชัด รายงานจาก JD.com รายงานว่ายอดขายกลับเติบโตถึง 43% โดยสินค้าที่ขายดีมาก เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องครัว และของตกแต่งบ้านที่ขายดีเป็นอย่างมาก ขณะที่ Alibaba รายงานว่ายอดขายในต่างจังหวัดของจีนเติบโตมากถึง 55% อีกด้วย
เทศกาลตรุษจีนกับวันชาติของจีนมักจะเป็นช่วงที่ชาวจีนจับจ่ายใช้สอยมากที่สุด มีการซื้อของหรูหรา การให้อั่งเปาแก่ผู้อื่นๆ การเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ รวมไปถึงการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจีนเป็นอย่างมาก แต่ในช่วงที่ผ่านมาจีนประสบปัญหาความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก เช่น ยอดค้าปลีกที่ลดลง ฯลฯ
Leland Mille ซึ่งเป็น CEO ของ China Beige Book มองว่าอย่างไรก็ดีข้อมูลจากทางการจีนอาจทำให้นักวิเคราะห์จากต่างชาติไม่ค่อยให้ความเชื่อมั่นเท่าไหร่นัก เขาแนะนำว่าให้มองดูสถานการณ์ของบริษัทเอกชนในประเทศจีนที่กำลังประสบปัญหาวิกฤติหนี้ในช่วงนี้ ซึ่งสะท้อนกับความเป็นจริงมากกว่า ยิ่งถ้าหากภาวะสงครามการค้ายังดำเนินต่อไปจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ
ขณะที่ Ding Shuang นักวิเคราะห์เศรฐกิจจากธนาคาร Standard Chartered กล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้วทางการจีนอาจต้องใช้มาตรการปรับลดภาษี เพื่อที่จะได้สร้างแรงกระตุ้นและสร้างความมั่นใจให้ประชาชนจีนกลับมาจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง




เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 โต 6.5% ต่ำสุดตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2009

เศรษฐกิจไตรมาส 3 ของจีนล่าสุดโตเพียงแค่ 6.5% ต่ำสุดหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2009 ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากสงครามการค้า และรวมไปถึงนโยบายลดความเสี่ยงเศรษฐกิจจีน




ภาพจาก Shutterstock

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้รายงานการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3 โดยเศรษฐกิจจีนเติบโต 6.5% เติบโตน้อยกว่าไตรมาส 2 และยังเป็นการเจริญเติบโตต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 หลังจากเกิดวิกฤติการเงินทั่วโลกอีกด้วย
สาเหตุสำคัญมาจากเรื่องของสงครามการค้า ซึ่งในตอนแรกที่ทางการจีนคาดว่าผลกระทบจะต่ำกว่าที่คาด และยังรวมไปถึงนโยบายลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ยังรบกวนต่อเนื่องเช่น ความเสี่ยงจาก Shadow Banking ฯลฯ
ผลกระทบเหล่านี้ได้ส่งผลกับเศรษฐกิจจีน ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจีนที่ลดน้อยลง การออกนอกบ้านที่ลดลงส่งผลทำให้ยอดขายในห้างสรรพสินค้าจีนค่อนข้างชะลอตัวลง ยังรวมไปถึงภาคการลงทุนยังมีการชะลอตัวลงอีกด้วย โดยยอดสินเชื่อกรกฏาคมและสิงหาคมที่ชะลอตัวลง
เศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมาทำให้ตลาดหลักทรัพย์ของจีนตกลงถึง 30% จากจุดสูงสุดในเดือนมกราคม ทำให้ตลาดหุ้นจีนเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่มี Performance แย่ที่สุดอีกตลาดหลักทรัพย์หนึ่งของโลก ไม่ใช่แค่นั้นค่าเงินหยวนยังได้อ่อนค่าลงอีกด้วย
ซึ่งผลกระทบนี้ทำให้ทางการจีนต้องลด RRR เพื่อที่จะได้ปั๊มเงินเข้าสู่ระบบกว่า 1.2 ล้านล้านหยวน โดยเงินที่เข้าระบบเหล่านี้ธนาคารกลางจีนคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ เพิ่มความคึกคักทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก บริษัทที่เน้นผลิตสินค้าทางนวัตกรรม เป็นต้น
ไตรมาส 4 คาดว่านอกจากผลของการลด RRR ที่ได้กล่าวได้ข้างต้นไปแล้ว คาดว่ารัฐบาลจีนจะเตรียเพิ่มเม็ดเงินในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม หลังจากที่ได้ลดลงก่อนหน้าอีกด้วย รวมไปถึงอาจมีการลดภาษีบางส่วนด้วย
ที่มา – New York TimesNikkei Asian Review



จีนเตรียมปั๊มเงินเข้าเศรษฐกิจอีก 1.2 ล้านล้านหยวน หลังจากเศรษฐกิจชะลอตัว

ธนาคารกลางจีนได้ประกาศปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นวิธีผ่อนคลายทางเศรษฐกิจของจีนอีก 1 วิธี โดยธนาคารกลางจีนคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง



ภาพจาก Shutterstock

ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ หรือ RRR ลง 1% ทำให้จะมีเม็ดเงินจำนวนกว่า 1.2 ล้านล้านหยวน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของจีนทันที โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ และธนาคารกลางคาดว่าการปรับลด RRR จะไม่ทำให้ค่าเงินหยวนนั้นผันผวน
สำหรับเม็ดเงิน 1.2 ล้านล้านหยวน แยกได้โดย 750,000 ล้านหยวนจะเป็นเม็ดเงินจากธนาคารกลางที่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ส่วนอีก 450,000 ล้านหยวนจะเป็นเงินชดเชยเงินกู้ระยะกลางจากธนาคารกลาง โดยเงินที่เข้าระบบเหล่านี้ธนาคารกลางจีนคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ เพิ่มความคึกคักทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก บริษัทที่เน้นผลิตสินค้าทางนวัตกรรม เป็นต้น
ก่อนหน้าที่จะมีการปรับลดสำรองนั้นธนาคารขนาดใหญ่ของจีนต้องมีสัดส่วนสำรอง 15.5% ส่วนธนาคารขนาดเล็กมีสัดส่วนสำรองอยู่ 13.5% ก่อนหน้านี้ธุรกิจในจีนบางอุตสาหกรรมเริ่มพบปัญหาต้นทุนทางการเงินที่สูงเกินไป เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ยังรวมไปถึงในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา New York Times รายงานว่าประชาชนจีนเริ่มมีการจับจ่ายน้อยลง สอดคล้องกับตัวเลขยอดค้าปลีกในปีนี้ของจีนต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้บริษัทจีนบางแห่งล้มละลาย เนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ได้

ผ่อนคลายจากเรื่องสงครามการค้า

การที่ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลด RRR ในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นการผ่อนคลายสถานการณ์ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนพบกับความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน ซึ่งสหรัฐเตรียมที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเติม
Robin Xing นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจของ Morgan Stanley ได้วิเคราะห์ว่า นโยบายผ่อนคลายครั้งนี้ของจีนเป็นความพยายามที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนไม่สะดุดจากสงครามการค้า
ที่มา – BloombergCaixin GlobalNew York Times



วิเคราะห์ เมื่อสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ยืดเยื้อกว่าที่คาด และ 2 มหาอำนาจยังหาทางออกไม่ได้

Brand Inside จะพาไปมองย้อนอดีตในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และมองไปถึงอนาคตและประเด็นปัญหาของเรื่องนี้



Donald Trump Xi Jinping
การเจรจาของ 2 ผู้นำอาจไม่มีทางกลับมาชื่นมื่นได้? – ภาพจาก Flickr ของทำเนียบขาว

หลังจากการประกาศของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ในการที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนอีก 10% มูลค่ากว่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยทรัมป์เองได้กล่าวว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้เป็นเพียงจำนวนเงินเล็กน้อยเท่านั้น รวมไปถึงการขึ้นภาษี 10% นี้อาจเป็นแค่ชั่วคราว ขึ้นอยู่กับว่าการเจรจาการค้ากับประเทศจีนออกมาในรูปแบบใด
นอกจากนี้ทรัมป์เองยังได้กล่าวว่าเขายังมองเห็นการเจรจาในด้านบวกกับประเทศจีนอยู่ หลังจากที่สหรัฐได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับทางด้านของจีนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แม้ว่าสหรัฐเองจะประกาศขึ้นภาษีนำเข้าก็ตาม อย่างไรก็ดีเราจะเห็นว่าเกมการเจรจาการค้า การตอบโต้ไปมาอย่างดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ กลับทำให้สิ่งต่างๆ เลวร้ายลงไปอีก
แล้วเรื่องราวของ 2 มหาอำนาจทั้งพญาอินทรีและพญามังกรจะจบลงอย่างไร

ย้อนอดีตเล็กน้อย

ต้องขอย้อนกลับไปเล่าถึงการเจรจาการค้าในช่วงเดือนเมษายนถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเล็กน้อย ก่อนหน้านี้มีความพยายามในการเจรจาการค้าของทั้งสหรัฐและจีน แต่กลับกลายเป็นว่าสหรัฐได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน 25% มูลค่ากว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสหรัฐได้กล่าวว่าจีนเป็นคนที่ล้มโต๊ะการเจรจาในครั้งนั้น ในขณะที่คณะผู้แทนเจรจาการค้าของประเทศจีนยังอยู่ที่สหรัฐอีกด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ทรัมป์เองได้กล่าวในตอนนั้นว่าเขาเองอาจเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ากว่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ซึ่งคือก้อนปัจจุบัน) ทำให้จีนได้ตอบโต้สหรัฐโดยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอีกประมาณ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ไม่เพียงแค่นั้นเกิดเหตุการณ์ระหว่างทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรณีของหัวเว่ยที่สหรัฐประกาศว่าอุปกรณ์โทรคมนาคมจากหัวเว่ยเป็นภัยต่อความมั่นคง ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐไม่สามารถดำเนินธุรกิจกับยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจากจีนได้ รวมไปถึงการแบนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการสอดแนมเช่น กล้อง CCTV ฯลฯ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะมณฑลซินเจียง กรณีของชนกลุ่มน้อยอุยกูร์
สำหรับการตอบโต้จากจีนก็ไม่ด้อยไปกว่ากัน เช่น การจำกัดการส่งออกแร่หายาก รวมไปถึงการที่ทางการจีนจัดทำบัญชีดำ บุคคล-บริษัทต่างชาติ ที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยบริษัทสหรัฐที่โดนสังเวยคราวนั้นคือ FedEx ยักษ์ใหญ่ในการขนส่ง

มีความหวังใน G20

ความหวังของการเจรจาการค้ากลับมาอีกรอบเมื่อคาดกันว่าจะมีการเจรจาการค้ากันใหม่ระหว่าง 2 ผู้นำในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ประธานาธิบดีทรัมป์เองยังได้ออกมาขู่ด้วยว่า ถ้าหากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เบี้ยวไม่มาร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ เขาจะขึ้นภาษี 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐทันที
อย่างไรก็ดีทั้ง 2 ผู้นำก็พบกันในการประชุมสุดยอดผู้นำที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีเงื่อนไขที่ว่าสหรัฐจะไม่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้สหรัฐยังเปิดทางให้บริษัทเอกชนสามารถซื้อขายสินค้ากับหัวเว่ยได้ด้วย ขณะที่ประเทศจีนได้รับปากว่าจะซื้อสินค้าทางเกษตรจากสหรัฐเพิ่มเติม
จนเกิดเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา



Chinese President Xi Jinping
สี จิ้นผิง อาจใช้วิธีดึงเกมยาว เพราะผู้นำจีนอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้เรื่อยๆ – ภาพจาก Shutterstock

ทำไมถึงต้องขึ้นภาษีนำเข้า

สำหรับสาเหตุที่สหรัฐอเมริกาประกาศที่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนอีก 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐมองว่า หลังจากการเจรจาการค้าระหว่าง 2 ประเทศแทบจะไม่มีความคืบหน้า โดยสหรัฐได้ส่งผู้แทนไปเจรจาการค้าที่ประเทศจีนในวันที่ 30 กรกฏาคมที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย สตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และโรเบิร์ต ไลท์ไธเซอร์ ผู้แทนการค้าของสหรัฐ
เหตุผลหลักที่ทรัมป์ต้องขึ้นภาษีคือจีนยังไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับสหรัฐได้แก่ เรื่องของการซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐด้วยปริมาณมหาศาล เช่น ถั่วเหลือง ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงแล้ว จีนกลับไม่ได้ซื้อสินค้าเหล่านี้ด้วยซ้ำ
ไม่เพียงแค่นั้น ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังได้กล่าวถึง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้รับปากในเรื่องของการงดขายสาร Fentanyl ที่เป็นสารตั้งต้นของยาแก้ปวด ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนอเมริกันหลายพันคนต่อปีเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพราะใช้ยาเกินขนาด จากสารโอปิดอยด์ และค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี
คาดว่าอีกเหตุผลที่สหรัฐยังใช้มาตรการนี้บีบจีนต่อไปคือ GDP ในไตรมาส 1 ยังไม่ออกอาการแย่ และ สหรัฐยังมีช่องว่างนโยบายทางการเงินอยู่บ้าง แม้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐจะมีปัญหากับ เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐก็ตาม โดยเฉพาะในเรื่องของธนาคารกลางสหรัฐดำเนินนโยบายการเงินที่ขัดใจหลายๆ ครั้งในช่วงที่ผ่านมา

แล้วสหรัฐต้องการอะไร?

การเจรจาที่สหรัฐเน้นย้ำมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมาคือมี 3 เรื่องใหญ่ๆ ประกอบไปด้วย
  1. เคารพเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาจีนมีปัญหาในเรื่องนี้อย่างมาก เช่น กรณีของหัวเว่ย ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของซิสโก้ในอดีต
  2. ควบคุมค่าเงินหยวนให้มีเสถียรภาพ สหรัฐมองว่ารัฐบาลจีนสามารถกำหนดให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าและแข็งค่าได้ ทำให้ประเทศส่งออกอื่นๆ เสียเปรียบทันที
  3. เปิดเสรีด้านการค้าการลงทุน สหรัฐมองว่าในขณะที่ประเทศจีนสามารถเข้าไปลงทุนในประเทศอื่นๆ แม้แต่สหรัฐได้เสรี แต่ในทางกลับกันประเทศอื่นๆ รวมถึงสหรัฐกลับไม่สามารถเข้าไปลงทุนหรือค้าขายในจีนได้อย่างเสรี
สอดคล้องกับถ้อยคำแถลงของ ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้แถลงสุนทรพจน์ที่สยามสมาคม หลังจากเข้าร่วมประชุมอาเซียนที่ประเทศไทยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “เศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมาเติบโตน้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ ขณะที่สหรัฐยังถือว่าแข็งแกร่ง นอกจากนี้ จีนมีนโยบายทางการค้าที่เอาเปรียบ และถ้าหากต้องการจะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ รวมถึงสหรัฐ ก็ควรจะลงมาเล่นในระดับเดียวกัน ไม่ใช่แค่สหรัฐที่ได้ประโยชน์แต่ทุกคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ รวมไปถึงเรื่องของการค้าทั่วโลกด้วย”
นอกจากนี้เราจะเห็นว่านโยบายของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาอีกเรื่องคือ การจัดการปัญหาการได้ดุลการค้าที่มากเกินไป ซึ่งเราจะเห็นได้จากการไล่บีบประเทศอื่นๆ ให้มาเจรจาการค้าใหม่ เช่น กรณีของเม็กซิโก แคนาดา ที่เจรจาการค้าฉบับใหม่ไป รวมไปถึงกรณีของยุโรปในอุตสาหกรรมรถยนต์ ล่าสุดคือกรณีเวียดนามที่ผู้แทนการค้าสหรัฐเริ่มจับตามอง
ขณะที่จีนมองว่าสิ่งที่สหรัฐต้องการเป็นเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจจีนซึ่งไม่สามารถอ่อนข้อให้กับสหรัฐได้ โดยที่ผ่านมาเราจะเห็นกรณีตัวแทนของจีน เช่น หวัง หยาง ซึ่งเป็น 1 ใน สมาชิกกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ หรือเรียกย่อๆ ว่า โปลิตบูโร ได้กล่าวว่า “เรื่องของสงครามการค้าจะไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างนโยบายทางเศรษฐกิจของจีนอย่างแน่นอน” ยังรวมไปถึงเหตุผลของรัฐบาลจีนที่มองว่าทำไมต้องให้สหรัฐมากดดันจีนในเรื่องของนโยบายต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่เสียหน้าอย่างยิ่ง
ไม่เพียงแค่เรื่องหลักๆ ของด้านการค้าเท่านั้น ยังมีเรื่องยิบย่อยที่ 2 มหาอำนาจที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้อีก เช่น เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ กรณีของทะเลจีนใต้ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การจารกรรมข้อมูลต่างๆ ฯลฯ



Donald Trump โดนัลด์ ทรัมป์
ทรัมป์ต้องลุ้นเป็นประธานาธิบดีต่อไป – ภาพจาก Shutterstock

ทางออกในเรื่องนี้ ณ เวลานี้ = ไม่มี

สำหรับฝั่งจีนแล้ว เรื่องนี้อาจเป็นเหมือนที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้คาดไว้แต่แรกคือ ถ้าหากเจรจาไม่สำเร็จจริงๆ จีนก็อาจใช้วิธีดึงเกมยาวไปจนถึงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปี 2020 แล้วค่อยมาลุ้นกันว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปต่อจากทรัมป์ ซึ่งถ้าหากเป็นทรัมป์คนเดิม จีนต้องเจอไม้แข็งด้านการค้าชุดใหญ่จากสหรัฐ ส่วนถ้าหากตัวแทนของพรรคเดโมแครตได้ จีนก็ยังเชื่อว่าการเจรจาก็อาจง่ายลงกว่าเดิม
ทางด้านฝั่งพญาอินทรีนั้น ต้องมารอลุ้นว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ขณะเดียวกันเรื่องนี้ก็อาจกลายเป็นประเด็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศไปแล้ว ซึ่งความไม่แน่นอนคือว่าถ้าหากเป็นคนของพรรคเดโมแครตขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแล้วจะใช้วิธีไหนในการเจรจากับจีนให้กลับเข้ามาในประเด็น 3 เรื่องใหญ่นี้ ที่ยังไม่นับประเด็นเล็กๆ น้อยๆ อีกมาก
ส่วนประเทศที่เป็นคู่ค้าของทั้ง 2 ประเทศก็ต่างต้องเจ็บตัวไปพลางๆ จากเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ จนทำให้ GDP ของหลายๆ ประเทศย่ำแย่ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ฯลฯ จนกว่า 2 มหาอำนาจนี้จะเจอจุดตรงกลางของการเจรจา ขณะที่ผู้ประกอบการในจีนและประเทศอื่นๆ ก็ต่างย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีน ส่วนใหญ่ใช้ประเทศในอาเซียนเป็นฐานการส่งออก เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ไทย แต่ก็ไม่พ้นเวรกรรมที่สหรัฐตามมาไล่บี้ เนื่องจากเหตุผลที่ได้กล่าวไป
สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญคือการส่งออก แน่นอนว่าเรื่องของ 2 มหาอำนาจยังไม่สามารถหาจุดตรงกลางของการเจรจาการค้าได้นั้น ย่อมเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ว่าจะหาทางออกจากเรื่องนี้ได้เช่นไร


แผนใหม่จีน ดันฮ่องกง-มาเก๊า-กวางตุ้ง เป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่ เตรียมโค่นสิงคโปร์

สิงคโปร์อาจจะถูกโค่น ด้วยแผนใหม่ของจีนที่ดันฮ่องกง-มาเก๊า-กวางตุ้งเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่


สิงคโปร์ ศูนย์กลางทางการเงิน
สิงคโปร์ Photo: Shutterstock

ศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่ของจีน เตรียมโค่นสิงคโปร์

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทางการจีนเผยแผนใหม่ที่มีชื่อว่า Greater Bay Area โดยประกอบด้วยฮ่องกง มาเก๊า และ 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ กวางโจว, เซินเจิ้น, จูไห่, ฝอซาน, ฮุ่ยโจว, ตงกวน, จงซาน, เจียงเหมิน และเจ้าชิ่ง
  • แม้ว่าแผน Greater Bay Area ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า แผนใหม่ของจีนในครั้งนี้สามารถโค่นล้มสิงคโปร์ได้ เพราะจะกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงิน นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่แห่งใหม่
หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่มองไปในทิศทางนี้คือ Lawrence Loh ผู้อำนวยการของ Centre for Governance จาก NUS Business School โดยระบุว่า แผนใหม่ของจีนได้เปรียบอย่างมากในทางภูมิศาสตร์ เชื่อว่าหากเป็นไปตามแผนนี้จะเกิดการผนึกกำลังในหลายอุตสาหกรรมและหลายตลาด ซึ่งอุตสาหกรรมที่จะถูกท้าทายมากที่สุดในสิงคโปร์ คือ “ภาคการเงิน”
หากดูจากตัวเลขสถิติ ตามแผนของ Greater Bay Area ถือว่าเหนือว่าสิงคโปร์ในหลายด้าน เช่น มีประชากรสูงถึง 71 ล้านคน มากกว่าสิงคโปร์ถึง 12 เท่า นอกจากนั้นยังมี GDP รวมกันประมาณ 1.64 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าสิงคโปร์ถึง 5 เท่า
ส่วน Tommy Xie หัวหน้าของ Greater China Research จาก OCBC Bank มองว่า แผนใหม่ของจีนจะทำให้ฮ่องกงได้รับผลประโยชน์มากที่สุด เพราะจะกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินใหม่ และแน่นอนจะกลายเป็นความท้าทายแห่งใหม่ของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางทางการเงิน


Greater Bay Area
Greater Bay Area | Photo: © 2018 Constitutional and Mainland Affairs Bureau

แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนก็ไม่เห็นด้วยกับมุมมองนี้

Duncan Innes-Ker จาก The Economist ให้ความเห็นว่า Greater Bay Area จะไม่เป็นภัยคุกคามสำหรับสิงคโปร์ เนื่องจากฮ่องกงกับสิงคโปร์เป็นเมืองระดับโลก (Global City) ที่ดึงดูดเงินลงทุนและแรงงานทักษะสูงจากทั่วโลกอยู่แล้ว
ส่วนอีกหนึ่งเหตุผลที่สิงคโปร์จะไม่ได้รับผลกระทบ หรือความท้าทายจาก Greater Bay Area มากนัก เป็นเพราะการที่สิงคโปร์ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่างในปี 2018 ที่ผ่านมา เงินลงทุนในส่วน FinTech อย่างเดียวในสิงคโปร์ก็ได้รับเม็ดเงินสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึง 2 เท่า โดยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 365 ล้านดอลลาร์
ที่มา – Nikkei Asian reviewBayarea

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง"

สถาบันภาษาและวัฒนธรรมจีนปักกิ่ง Beijing Chinese Language and Culture College

สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล