"กุ้ยโจว มณฑลยากจนที่สุดของจีน"



Eyes on China - Aksornsri ตอนที่ 4 "กุ้ยโจว มณฑลยากจนที่สุดของจีน" (ตอนแรก)

Eyes on China - Aksornsri ตอนที่ 5 : "กุ้ยโจว มณฑลยากจนที่สุดของจีน" (ตอนจบ) " NOW26" 10-8-57


มณฑลกุ้ยโจวกับการแก้ไขปัญหาความยากจน

กุ้ยโจวถือเป็นอีกหนึ่งมณฑลของจีนที่มีประชากรยากจนจำนวนมาก สถิติปี 2554 ประชากรของกุ้ยโจวที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 2,300 หยวน  มีจำนวนถึง 11.5 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของมณฑล (กุ้ยโจวมีจำนวนประชากรประมาณ 35 ล้านคน) ซึ่งในขณะนั้น กุ้ยโจวติดอันดับมณฑลรั้งท้ายที่มี GDP ต่อหัวต่ำสุดจาก 31 มณฑล/เขตในจีน กลายเป็นมณฑลที่ยากจนที่สุดของจีน อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา กุ้ยโจวได้พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ไต่อันดับ GDP ต่อหัว และมูลค่า GDP ขึ้นมาแซงหน้ามณฑลอื่นได้ ทั้งนี้ กุ้ยโจวได้ลงมือทำอย่างไรในหนทางเพื่อก้าวข้ามความยากจน
เส้นมาตรฐานความยากจนของจีนที่ 2,300 หยวน/ปี ถูกกำหนดโดยรัฐบาลกลางของจีนเมื่อปี 2554 โดยเปรียบเทียบจากเส้นความยากจนสากล (international poverty line) ของธนาคารโลกและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( UNDP ) ประกอบ โดยดูจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันขั้นต่ำต่อวัน ซึ่งคำนวณจากค่าโภชนาการที่ควรจะได้รับต่อวัน 2,100 กิโลแคลอรี่ ต้องใช้ค่าใช้จ่ายต่ำสุดเท่าไรในการซื้ออาหารที่จะได้ค่าโภชนาการ 2,100 กิโลแคลอรี่ ทั้งนี้ ปี 2559 เส้นมาตรฐานความยากจนของจีนอยู่ที่ 2,800 หยวน/ปี
กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน
ที่ผ่านมา กุ้ยโจวเผชิญหน้ากับปัญหาความยากจนอย่างท้าทาย ทุกฝ่ายเร่งพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน รวมถึงเพื่อให้คนยากจนจำนวนดังกล่าวหมดไปภายในปี 2563 ตามนโยบาย “สังคมพออยู่พอกิน (全面小康社会)” ของจีน
และภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 (2559-2563) รัฐบาลกุ้ยโจวได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นภายในปี 2563 ดังนี้ ด้านเศรษฐกิจ GDP ต่อหัว จะเพิ่มเป็น 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้านสิ่งแวดล้อม กุ้ยโจวจะฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้จากปี 2554 ที่ระดับร้อยละ 40 ให้ครอบคลุมเป็นร้อยละ 60 ของพื้นที่มณฑล และอุตสาหกรรมการผลิตต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านการท่องเที่ยว ขยายตัวร้อยละ 18 และในแต่ละปีขยายตัวด้วยเลขสองหลัก ด้านการศึกษา ขยายแผนการศึกษาภาคบังคับจากมัธยม 3 เป็นระดับอาชีวศึกษา 3 ปี (เรียกว่า การศึกษาระบบ 9+3 คือ การศึกษาภาคบังคับ 9 ปี + การศึกษาภาคอาชีวศึกษา 3 ปี) ด้านคมนาคม กุ้ยโจวจะเปิดใช้ถนนกว่า 200,000 กม. และทางด่วน 7,000 กม. ครอบคลุมทุกเขต/อำเภอของมณฑล เส้นทางรถไฟกว่า 4,400 กม. และรถไฟความเร็วสูง 2,000 กม. สนามบินหลัก 1 แห่ง และสนามบินย่อย 16 แห่ง
การดำเนินนโยบายเคลื่อนย้ายคนยากจนออกจากถิ่นทุรกันดาร
จากคนยากจนในกุ้ยโจวที่มีอยู่ 11.5 ล้านคน ในปี 2554 ลดลงเหลือ 4.9 ล้านคน ในปี 2558 รัฐบาลกุ้ยโจวมีแผนที่จะต่อสู้กับความยากจนอย่างต่อเนื่อง โดยจะลดจำนวนคนยากจนประมาณ 1 ล้านคนต่อปี และภายในปี 2563 คนยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,300 หยวน จะหมดไปจากมณฑล อย่างไรก็ดี โดยที่ภูมิประเทศของกุ้ยโจวที่มีลักษณะเป็นหุบเขาลึกสลับกับภูเขาสูง และมีพื้นที่ที่เป็นทะเลทรายหิน (Stone Desertification) ซึ่งจำนวนไม่น้อยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ในการทำลายป่าไม้ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ “ทุรกันดาร” จนแถบจะไม่สามารถปลูกพืชหรือทำมาหากินได้ ทั้งนี้มีคนที่อยู่ในพื้นที่กันดารดังกล่าวถึง 1.6 ล้านคน แล้วรัฐบาลจะช่วยเหลือคนยากจนเหล่านี้อย่างไร
วิธีการแก้ปัญหา คือ การย้ายประชาชนออกจากพื้นที่กันดารก่อน แล้วค่อย ๆ ฟื้นฟูพื้นที่เหล่านั้นให้เป็นพื้นที่ป่า ทั้งนี้ การย้ายผู้คนจำนวนมากต้องอาศัยเวลา โดยรัฐบาลกุ้ยโจวยึดหลักการที่ว่า “ย้ายด้วยความสมัครใจ สร้างที่อยู่ใหม่ให้สะดวก สร้างงานและรายได้ให้มั่นคง”
ย้ายด้วยความสมัครใจ โดยคนยากจนจะลงทะเบียนกับทางการก่อน และกรอกข้อมูลต่าง ๆ เพื่อดูระดับความยากจน จากนั้นทางการจีนจะให้คู่มือคนยากจน การลงทะเบียนจะทำให้สามารถระบุตัวคนยากจนได้ รู้ว่ากระจายอยู่ในแหล่งใด สภาพและระดับความยากจน โดยจะดูจากสภาพบ้าน การปลูกพืช จำนวนวัวหรือแพะที่เลี้ยง จำนวนผู้ใช้แรงงาน ผู้พิการ ผู้สูงอายุและเด็กวัยเรียนในครอบครัว ความชำนาญและทักษะของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงจำนวนเงินฝากและกู้ยืม จากนั้นรัฐบาลจะค่อย ๆ ทยอยเคลื่อนย้ายคนแต่ละหมู่บ้านแต่ละอำเภอออกจากพื้นที่กันดาร โดยกำหนดการเคลื่อนย้ายปีละ 4-5 แสนคน
สร้างที่อยู่ใหม่ให้สะดวก คำถามคือ ย้ายไปไหน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน โดยจะย้ายไปอยู่กับญาติหรือย้ายไปอยู่ในที่ที่มีงานทำและสามารถสร้างรายได้ เช่น ตัวเมืองของอำเภอหรือตัวเมืองของตำบล เขตอุตสาหกรรม หรือเขตบริการท่องเที่ยว แต่ส่วนใหญ่มักจะย้ายไปอยู่ในเขตหมู่บ้านใหม่ ซึ่งทางการจีนเป็นผู้สร้างให้ในลักษณะคล้ายกับชุมชนอาคารสงเคราะห์ของไทย ที่มีคมนาคมสะดวก ใกล้โรงเรียนและสถานีอนามัย
บ้านที่ทางการสร้างให้จะยึดหลักมาตรฐาน คือ ความปลอดภัย ลักษณะการใช้งาน และความคุ้มค่า รวมถึงการป้องกันแผ่นดินไหวตามมาตรฐานที่กำหนด มีน้ำและไฟฟ้าเข้าถึง และมักจะอยู่ใกล้กับโรงเรียนและสถานีอนามัย โดยบ้านที่อยู่ในตัวเมืองของอำเภอจะได้คนละไม่เกิน 20 ตารางเมตร และบ้านที่อยู่ในหมู่บ้าน ได้คนละไม่เกิน 25 ตารางเมตร หากเกินกว่านั้นจะต้องจ่ายเองในราคาตลาด
นโยบายเงินสนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัย แบ่งออกเป็น 1) เงินช่วยเหลือในการสร้างที่อยู่ใหม่ 20,000 หยวน/คน สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนคนยากจน และ 12,000 หยวน/คน สำหรับคนไม่เข้าข่ายยากจนแต่อยู่ในข่ายต้องย้ายออกจากพื้นที่ยากจน และ 2) ค่ารื้อถอนที่อยู่อาศัย 15,000 หยวน/คน
ทั้งนี้ ในปี 2559 กุ้ยโจวเคลื่อนย้ายคนออกจากพื้นที่ทุรกันดาร 450,000 คน ใช้งบประมาณ 27,000 ล้านหยวน โดยเป็นการสร้างบ้าน 18,000 ล้านหยวน และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 9,000 ล้านหยวน ซึ่งการสร้างที่อยู่อาศัยจะสร้างบริเวณใดขึ้นอยู่กับรัฐบาลท้องถิ่นระดับอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีบริษัทการลงทุนและพัฒนาให้พ้นความยากจนมณฑลกุ้ยโจว (เป็นวิสาหกิจที่บริหารงานโดยรัฐบาลมณฑลกุ้ยโจว) เป็นผู้วางแผนและจัดสรรการลงทุนประจำปี และประสานงานกับรัฐบาลระดับอำเภอ
สร้างงานและรายได้ให้มั่นคง ในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชน รัฐบาลกุ้ยโจวได้พัฒนาความเจริญควบคู่ไปกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นการพัฒนา 6 ด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมการก่อสร้างทันสมัย อุตสาหกรรมสาธารณสุข (สมุนไพรจีน) เกษตรที่ราบสูง การท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน ไปพร้อม ๆ กับการใช้โครงการคุณภาพ 5 ด้าน (5个100工程) เพื่อก่อให้เกิดการสร้างงานและรายได้แก่ประชาชน
โครงการคุณภาพ 5 ด้าน ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมคุณภาพ สวนเกษตรทันสมัย แหล่งท่องเที่ยคุณภาพ ตำบลคุณภาพ และเมืองคอมเพล็กซ์คุณภาพ โดยจะทำการคัดเลือกในแต่ละด้านอย่างละประมาณ 100 แห่ง จากนั้นส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดความทันสมัยและมีคุณภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการจ้างงานและทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โครงการคุณภาพ 5 ด้าน ใช้เงินลงทุนกว่า 1.9 ล้านล้านหยวน และดึงดูดเงินลงทุนจากบริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับของโลก และบริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับของจีน กว่า 2.65 ล้านล้านหยวน อาทิ Foxconn ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของไต้หวัน และบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร Qualcomm ของสหรัฐฯ
การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ และการก่อสร้าง ล้วนมีความโดดเด่น อาทิ ปี 2559 กุ้ยโจวได้รับอนุมัติให้เป็น “National Big Data Pilot Zone” แห่งแรกของจีน และปัจจุบันกุ้ยโจวยังเป็นแหล่งผลิตมือถืออันดับ 4 ของจีนอีกด้วย ในด้านนวัตกรรมการก่อสร้าง มีหอดูดาว FAST ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดในโลก และกำลังถูกพัฒนาเพื่อให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดาราศาสตร์ที่สำคัญของจีน สะพานเป่ยผานเจียง สะพานที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งสะท้อนศักยภาพด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธาของจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม
ด้านการเกษตร ให้ความสำคัญด้านเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อให้พืชผลทางการเกษตรเป็นพืชสีเขียว ปลอดสารพิษ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีกระบวนการเพาะปลูกที่ประหยัดพลังงาน บนพื้นที่ราว 2 ล้านหมู่ (ประมาณ 833,333 ไร่) พืชเกษตรที่สำคัญของกุ้ยโจว เช่น ใบชา ยาสูบ สมุนไพรจีนของชนกลุ่มน้อย มันฝรั่ง พืชผัก โดยมีพื้นที่เพาะปลูกชา พริก แก้วมังกร และลูกเดือย มากเป็นอันดับ 1 ของจีน
ด้านการท่องเที่ยว ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของกุ้ยโจว โดยกุ้ยโจวได้พยายามผลักดันการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นระดับ 5A (แหล่งท่องเที่ยวระดับสูงสุดของประเทศจีน) เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีอยู่เพียง 2 แห่งมาตั้งแต่ปี 2550 ให้เพิ่มเป็น 5 แห่งในปัจจุบัน ได้แก่ น้ำตกหวงกั่วซู่ ถ้ำวังมังกร สวนดอกตู้จวนร้อยลี้ มรดกโลกทางธรรมชาติอำเภอลี่โป และเมืองโบราณชิงเอี๋ยน นอกจากนี้ โดยที่กุ้ยโจวมีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมชนเผ่า และทรัพยากรธรรมชาติไม่น้อยหน้ามณฑลอื่น จึงได้สร้างและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชนกลุ่มน้อยและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยาอีกหลายแห่ง เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น และตลอดระยะเวลา 4 ปีของโครงการคุณภาพด้านการท่องเที่ยว 100 แห่งที่ได้รับการส่งเสริม ทำให้มีนักท่องเที่ยวถึง 1,493 ล้านคน สร้างรายได้ 1.38 ล้านล้านหยวน
ตำบลและเมืองคุณภาพ คือ การสร้างความเป็นเมืองและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยเน้นการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมเข้าถึงหมู่บ้านและตำบลอย่างครอบคลุม เช่น น้ำ ไฟฟ้า ถนน อินเตอร์เน็ต สถานีอนามัย โรงเรียน และห้องน้ำ รวมถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อยให้เป็นตำบลหรืออำเภอคุณภาพ ซึ่งกุ้ยโจวเป็นอีกหนึ่งมณฑลที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่จำนวนมากถึง 17 ชนเผ่า อาทิ แม้ว ปู้อี ถู่เจีย และต้ง
กลยุทธ์ “ตกออก ร่วมใจ แก้ไขปัญหาความยากจน”
รัฐบาลกลางได้ออกนโยบาย “การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของจีนในการแก้ไขปัญหาความยากจน” มาตั้งแต่ปี 2539 โดยการจับคู่เมืองทางภาคตะวันออกของจีนกับเมืองยากจนทางภาคตะวันตกของจีน เพื่อให้เมืองที่ร่ำรวยทางภาคตะวันออกช่วยเหลือเมืองยากจนทางภาคตะวันตก เช่น เมืองเซินเจิ้นจับคู่กับเมืองปี้เจี๋ยและเขตปกครองตนเองเฉียนหนาน เมืองหนิงโปจับคู่กับเขตปกครองตนเองเฉียนหนาน ซึ่งปัจจุบันมีเมืองทางภาคตะวันออกที่ให้ความช่วยเหลือปัญหาความยากจนในกุ้ยโจว 8 เมือง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ต้าเหลียน ซูโจว หังโจว หนิงโป ชิงเต่า กว่างโจว และเซินเจิ้น
ตัวอย่างความช่วยเหลือของเมืองต่าง ๆ ในภาคตะวันออกที่ให้กับมณฑลกุ้ยโจวตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เช่น การเข้าไปลงทุนด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและภาคบริการในพื้นที่ การให้เงินช่วยเหลือเพื่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น การสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน การสร้างชลประทานเพื่อการเกษตร การสร้างสถานีอนามัย และจัดตั้งกองทุนพัฒนาเพื่อการศึกษา รวมถึงการส่งบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปฝึกอบรมให้แก่ชาวกุ้ยโจว
โดยล่าสุดปี 2559 กุ้ยโจวสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างมณฑลได้ 721,351 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 ขณะเดียวกัน กุ้ยโจวก็ได้ส่งไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินและไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนบนแม่น้ำอูเจียงไปเขตกว่างซีและมณฑลกวางตุ้ง ถือเป็นการพึ่งพากันและกัน
ผลักดันการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปากท้องของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำของรายได้
ล่าสุดปี 2559 กุ้ยโจวมีมูลค่า GDP 1.17 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 เท่าตัว โดยเติบโตร้อยละ 10.5 การขยายตัวติดอันดับ 3 ของจีน สำหรับ GDP ต่อหัว จากอันดับรั้งท้ายสุด เขยิบขึ้นมาที่อันดับ 29 ของประเทศในปี 2558 (แซงหน้ามณฑลยูนนานและกานซู่) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 4,800 ดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกัน ความแข็งแกร่งด้านความเชื่อมโยงคมนาคมถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นต่อการพัฒนา ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เส้นทางถนนและรถไฟ และจำนวนสนามบินในกุ้ยโจวเพิ่มขึ้นเท่าตัวและมีความสะดวกมากขึ้น ปัจจุบัน กุ้ยโจวมีรถไฟความเร็วสูงกุ้ยหยาง-กว่างโจว และเซี่ยงไฮ้-กุ้ยหยาง-คุนหมิง เปิดใช้งานแล้ว ทำให้กุ้ยโจวสามารถเชื่อมกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจทางภาคตะวันออกของจีน เพื่อออกสู่ทะเลในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (Pearl River Delta) และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Delta) รวมถึงเชื่อมกับมณฑลตอนใน ผ่านยูนนานสู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้
ความเหลื่อมล้ำของรายได้ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กุ้ยโจวต้องเร่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมณฑลอื่น ๆ ทางภาคตะวันตกของจีน เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคคอยถ่วงการพัฒนาในระดับประเทศ โดยปี 2559 กุ้ยโจวมีรายได้เฉลี่ยประชากรในเขตชนบท 8,090 หยวน เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีก่อนเท่าตัว แต่หากเทียบกับรายได้เฉลี่ยประชากร ในเขตชนบทของเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ที่ 23,205 หยวน ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนชนบทในกุ้ยโจวและเซี่ยงไฮ้ยังคงต่างกันเกือบสามเท่า
การแก้ไขปัญหาความยากจนของกุ้ยโจวยังต้องดำเนินต่อไป ต้องกำหนดแผนและดำเนินการอย่างจริงจังโดยอาศัยเวลาและความต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไต่อันดับ GDP ต่อหัวขึ้นไปเรื่อย ๆ จนการรั้งอันดับท้าย ๆ กลายเป็นอดีตไป
*************************************************

อุตสาหกรรม ‘บิ๊กดาต้า’ เฟื่องฟูใน‘มณฑลกุ้ยโจว’ที่ยากจนของประเทศจีน

เผยแพร่:    โดย: ดีเอ็ม ชาน

<i>เมืองกุ้ยหยาง เมืองเอกของมณฑลกุ้ยโจว  มณฑลนี้ถือเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของจีน แต่เวลานี้ได้ชื่อว่าเป็น “ดาต้าแวลลีย์” นับแต่ที่จีนจัดตั้งเขตนำร่องบิ๊กดาต้าแห่งแรกขึ้นที่นี่ในปี 2012 </i>
เมืองกุ้ยหยาง เมืองเอกของมณฑลกุ้ยโจว มณฑลนี้ถือเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของจีน แต่เวลานี้ได้ชื่อว่าเป็น “ดาต้าแวลลีย์” นับแต่ที่จีนจัดตั้งเขตนำร่องบิ๊กดาต้าแห่งแรกขึ้นที่นี่ในปี 2012
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Big data finds niche in China’s Guizhou province
By DM Chan
14/08/2019
มณฑลกุ้ยโจว ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งภูมิประเทสเป็นเขตเขาและเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของจีน เวลานี้กำลังกลายเป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรม “บิ๊กดาต้า”
มณฑลกุ้ยโจวที่ภูมิประเทศเป็นเขตเขาอันสวยสดงดงามดังภาพวาด ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน กำลังกลายเป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรม “บิ๊กดาต้า” (big data) ซึ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจของมณฑลยากจนแห่งนี้กระเตื้องดีขึ้นอย่างรวดเร็ว CGTN.com เว็บไซต์ของเครือข่ายโทรทัศน์ภาคบริการโลกแห่งประเทศจีน (China Global Television Network) รายงาน โดยอ้างอิงการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ระดับนำผู้หนึ่งของมณฑลนี้
“กุ้ยโจวได้เห็นมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจดิจิตอลของตน เพิ่มสูงขึ้นราว 24.6% ในปี 2018 ทำให้ติดอันดับหนึ่งในระดับทั่วประเทศเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว” ซุน จื้อกัง (Sun Zhigang) เลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขามณฑลกุ้ยโจว กล่าวในการแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง
มณฑลนี้ถือเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดพื้นที่หนึ่งของจีน แต่เวลานี้กำลังมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในนาม “ดาต้า แวลลีย์” (data valley) นับตั้งแต่ที่จีนจัดตั้งเขตนำร่องบิ๊กดาต้าแห่งแรกขึ้นที่นั่นเมื่อปี 2012 ด้วยสภาพภูมิอากาศที่สุขสบายพอประมาณ, ซัปพลายกระแสไฟฟ้าซึ่งพอเพียง, และโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายที่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้กุ้ยโจวสามารถดึงดูดพวกวิสาหกิจด้านบิ๊กดาต้าให้เข้าไปลงทุน รายงานชิ้นนี้ระบุ
ซุนแถลงว่า กุ้ยโจวกำลังทำงานในภารกิจสำคัญๆ 4 ด้านด้วยกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนนวัตกรรมและการพัฒนาในอุตสาหกรรมทางด้านบิ๊กดาต้า ได้แก่ การเพิ่มพูนมนตร์เสน่ห์ดึงดูดการลงทุน, การยกระดับพวกอุตสาหกรรมที่มีดาต้าเป็นตัวชูโรง, การขยายแอปพลิเคชั่นให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในแพลตฟอร์มต่างๆ ทางออนไลน์, และการเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้านานาชาติแห่งประเทศจีน (China International Big Data Industry Expo)
พวกบริษัทที่มีกิจการเกี่ยวข้องกับดาต้าจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ พากันมองว่ามณฑลนี้ยิ่งมีเสน่ห์ดึงดูดใจ หลังจากบริษัทให้บริการด้านเทเลคอมรายสำคัญ 3 รายของจีน อันได้แก่ ไชน่าโมไบล์ (China Mobile), ไชน่ายูนิคอม (China Unicom), และไชน่าเทเลคอม (China Telecom) รวมทั้งพวกยักษ์ใหญ่ด้านเทคอีกมากหน้าหลายตา เป็นต้นว่า แอปเปิล (Apple), ควอลคอมม์ (Qualcomm), หัวเว่ย (Huawei), เทนเซนต์ (Tencent), และ อาลีบาบา (Alibaba) ได้ไปจัดตั้งศูนย์ด้านบิ๊กดาต้าและคลาวด์คอมพิวติ้งของพวกเขาในกุ้ยโจว
ปี 2018 มีวิสาหกิจต่างๆ มากกว่า 200 แห่งซึ่งมีศักยภาพที่จะเติบโตขยายตัวอย่างใหญ่โต ได้รับการจัดตั้งขึ้นในกุ้ยโจว รายงานชิ้นนี้บอก
ในแง่ของการยกระดับทางเศรษฐกิจ มีความพยายามอย่างกระฉับกระเฉงเพื่อเร่งรัดให้เกิดการบูรณาการกันระหว่างเศรษฐกิจที่แท้จริงกับบิ๊กดาต้า โดยที่ปี 2018 มีวิสาหกิจราว 1,625 แห่งประสบผลในเรื่องนี้ สามารถปรับปรุงยกระดับทั้งผลประกอบการทางเศรษฐกิจและผลประกอบการทางสังคม
เทคโนโลยีบิ๊กดาต้ายังถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นในบริการด้านต่างๆ ของกิจการรัฐบาล เป็นต้นว่า การลดความยากจน, การศึกษา, โทรเวช (telemedicine), และความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะ
กุ้ยโจ้วกลายเป็นแห่งแรกในประเทศจีนซึ่งมีการใช้เครือข่ายโทรเวชในระดับทั่วทั้งมณฑล ความสำเร็จนี้เปิดทางให้ชาวท้องถิ่นจากส่วนต่างๆ ของมณฑลสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้วยราคาค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง, ลดทอนปัญหาการเข้าถึงบริการต่างๆ ทางการแพทย์ได้อย่างยากลำบาก
มณฑลแห่งนี้ยังเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน ขึ้นที่เมืองกุ้ยหยาง เมืองเอกของมณฑล เป็นเวลา 5 ปี
ในปี 2019 งานนี้ดึงดูดวิสาหกิจ 448 แห่งจาก 59 ประเทศและเขตแคว้นมาเข้าร่วม ในจำนวนนี้เป็นบริษัทต่างประเทศกว่า 150 แห่ง โดยที่ 39 แห่งในจำนวนนี้เป็นกิจการยักษ์ใหญ่ติดอันดับ ฟอร์จูน 500

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง"

สถาบันภาษาและวัฒนธรรมจีนปักกิ่ง Beijing Chinese Language and Culture College

สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล